นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยในโอกาสเกษียณอายุราชการว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับแนวคิดและแนวทางการบริหารงานของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพนักงานกรมฝนหลวงฯ เพื่อสร้างระบบการทำงานให้เป็นเครือข่าย เกิดการบูรณาการการทำงาานทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานให้มากขึ้น
ไม่จำเป็นจะต้องทำงานเก่งทุกคนแต่สามารถทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ และมีศักภาพในการทำงานช่วยเหลือคนอื่นๆเพื่อให้ทุกตำแหน่งจะต้องมีเส้นทางการเติบโตขึ้นเป็นระดับผู้บริหาร และอธิบดีได้ ซึ่งจะทำให้ข้าราชการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแรงบันดาลใจและตื่นตัวในการทำงานตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังได้มีกระจายอำนาจหน้าที่และการตัดสินใจไปยังหน่วยงานของกรมฝนหลวงฯ ในส่วนภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“อาสาสมัครฝนหลวง เป็นอีกเรื่องที่มีการต่อยอดให้ความสำคัญมากขึ้น โดยได้มอบหมายให้เป็นตัวแทนของกรมฝนหลวงฯ ในการกระจายข้อมูลข่าวสารจากกรมฝนหลวงฯ ลงสู่พื้นที่และรับฟังข้อคิดเห็นตลอดจนปัญหาต่างๆในพื้นที่ที่รับผิดชอบส่งต่อขึ้นมายังกรมฝนหลวงฯ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งอาสาสมัครฝนหลวงจะเป็นบุคคลที่เข้าใจพื้นที่ได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นบุคคลในพื้นที่นั้นๆ รู้ข้อมูลการปลูกพืชต่างๆ ข้อมูลแหล่งน้ำซึ่งจะนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งนี้อาสาสมัครหลายคนยังเป็นอาสาสมัครของหน่วยงานราชการอื่นๆด้วย ทำให้สามารถบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าว
นอกจากนี้กรมฝนหลวงฯ ยังได้มีการคัดเลือกอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นระดับภูมิภาค ประจำปี 2565 อีกด้วย โดยได้คัดเลือกจากอาสาสมัครฝนหลวงทั่วประเทศที่มีผลงานดีเด่น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้อาสาสมัครฝนหลวงในการปฏิบัติงานซึ่งมีทั้งหมด 9 ท่าน จะรับมอบรางวัลในงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวงประจำปี 2565 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีในการพยากรณ์อากาศ เพื่อวางแผนออกปฏิบัติการทำฝนหลวงเป็นอีกเรื่องที่กรมฝนหลวงฯให้ความสำคัญและได้มีการพัฒนาการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลจากการพยากรณ์ มาตรวจสอบ วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น จะได้นำมาใช้ในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างเหมาะสม เช่น ในพื้นที่มีเมฆฝนมากอยู่แล้วสามารถจู่โจมให้เป็นฝนได้เลย แม้ในบางพื้นที่อาจจะต้องก่อกวนก่อนจู่โจมทำฝน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติการ ฝนหลวงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ สืบสาน รักษา ต่อยอด การปฏิบัติการตามตำราฝนหลวงพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตในอนาคต
ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถปฏิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้่งได้ตรงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถนำมาใช้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนต่างๆ ป้องกันภัยแล้งในปีต่อไป ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ปัญหาภัยแล้งบรรเทาลงอย่างแน่นอน
"กรมฝนหลวงฯ จะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะระดับรากหญ้าที่ห่างไกลความเจริญ และ ขาดแคลนแหล่งน้ำ ทุกครั้งที่ประชาชนเห็นเครื่องบินสีเขียวของกรมฝนหลวงฯขึ้นปฏิบัติการ ขอให้รู้ว่ารัฐบาล และภาครัฐยังห่วงใยประชาชน ยังมีน้ำจากฟ้าลงมาช่วยเหลือ ประชาชนจะได้อุ่นใจว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง" นายสำเริง กล่าวในตอนท้าย