นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–จีน ครั้งที่ 21 (AEM–MOFCOM Consultations) ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบรายงานศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน (Joint Feasibility Study) เพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน (ASEAN–China Free Trade Area: ACFTA) และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมผู้นำอาเซียน–จีน ประกาศเริ่มการเจรจาในเดือนพฤศจิกายนนี้
การยกระดับความตกลง ACFTA เพื่อให้ความตกลงมีความทันสมัยสอดรับต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและรูปแบบการค้ายุคใหม่ โดยมีการเจรจาการเปิดเสรีเพิ่มเติมด้านการค้าสินค้า การเปิดเสรีด้านการลงทุน การคุ้มครองการลงทุน
และความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน และการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจกับจีนมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ยังได้กระชับความร่วมมือส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยได้รับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด ผ่านมาตรการที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในเชิงลึก การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน และได้เห็นชอบแผนงานว่าด้วยการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าอาเซียน–จีน ในเชิงลึก ปี ค.ศ. 2022–2026 ซึ่งกำหนดแผนการดำเนินงานและผลลัพธ์ที่คาดหวังระหว่างอาเซียนและจีน อาทิ การขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุน และการต่อต้านการระบาดใหญ่ของโควิดด้านเศรษฐกิจและการค้า
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–เกาหลีใต้ ครั้งที่ 19 ที่ประชุมตั้งเป้าให้ผลการศึกษาร่วมเพื่อยกระดับความตกลงอาเซียน–เกาหลีใต้ (ASEAN–Korea Free Trade Agreement: AKFTA) ฉบับสมบูรณ์เสร็จภายในต้นปี 2566 เพื่อนำรายงานการศึกษาร่วมมาใช้เป็นแนวทางการเจรจายกระดับความตกลง AKFTA โดยเฉพาะการเปิดตลาดการค้าสินค้าเพิ่มเติม การปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางการค้าให้ทันสมัย ครอบคลุม และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีเป้าหมายพัฒนาข้อบทด้านการค้าดิจิทัลกับอาเซียนในอนาคตเริ่มจัดทำการศึกษาวิจัยด้านการค้าดิจิทัล โดยจะส่งผลการวิจัยเบื้องต้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาภายในสิ้นเดือนกันยายน 2565 พร้อมทั้งจะพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนผ่านกลไกต่างๆ ทั้งการจัดทำแผนงานนโยบายสตาร์ทอัพ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม และโครงการ TASK ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญของเกาหลีใต้ให้กับผู้ประกอบการอาเซียนในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับสภาธุรกิจอาเซียน–เกาหลีใต้ เรื่องแนวทางเสริมสร้างขีดความสามารถในอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับ MSMEs และการส่งเสริมภาคเอกชนให้ใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP มากขึ้น
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น ครั้งที่ 28 ได้มีการติดตามการปฏิบัติตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น (ASEAN–Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) และเตรียมจัดทำข้อริเริ่มใหม่ การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่นและการจัดทำวิสัยทัศน์การร่วมสร้างสรรค์ด้านเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน–ญี่ปุ่น 50 ปี ในปี 2566 โดยมข้อเริ่มใหม่จะส่งเสริมความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาและสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ และการดาเนินธุรกิจแบบ การร่วมสร้างสรรค์ โดยสาขาที่คาดว่าจะจัดทำวิสัยทัศน์ อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสาขาการดูแลสุขภาพ
นอกจากนี้ ได้หารือเรื่องการเจรจาจัดทำพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น เนื่องจากควรขยายความตกลง AJCEP ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยรวมประเด็นใหม่ๆ อาทิ การเปิดเสรีการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ไว้ในความตกลงฉบับแก้ไขหรืออัปเกรดด้วย โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มการอัปเกรด ในปี 2566