นายกฯ ย้ำเวทีอาเซียน-จีนมุ่งสานต่อความร่วมมือทุกมิติเพื่อประชาชน

22 พ.ย. 2564 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 13:13 น.

นายกฯ ย้ำที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน มุ่งสานต่อความร่วมมือทุกมิติการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน มุ่งสู่ Next Normal พลิกโฉมประเทศไทย

วันที่ 22 พ.ย.64  เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุซซาลาม เป็นประธานร่วมในการประชุม ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนและเลขาธิการอาเซียน ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

 

ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ชื่นชมบูรไนในฐานะประธาน ชื่นชมความคืบหน้าของความร่วมมือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เพราะการเคารพซึ่งกันและกัน ร่วมรับมือกับความขัดแย้ง การพัฒนาที่เห็นชอบร่วมกันได้ช่วยเหลือ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ร่วมรับมือกับความท้าทายวิกฤตการณ์ทางการเงิน เศรษฐกิจ และความท้าทายโควิด-19 ซึ่งการยึดมั่นการเรียนรู้ ระหว่างกันส่งเสริมกลไกที่จะทำให้อาเซียนมีบทบาทนำ ย้ำให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอันดับต้น สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยประธานาธิบดีสีจิ้งผิง เสนอให้

                      นายกฯ ย้ำเวทีอาเซียน-จีนมุ่งสานต่อความร่วมมือทุกมิติเพื่อประชาชน

1) ส่งเสริมสันติภาพร่วมกัน ผ่านการหารือและสร้างหุ้นส่วน จีนต่อต้านการใช้อำนาจเพื่อต่อต้านกันและกัน พร้อมสนับสนุนภูมิภาคอาเซียนที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์

 

2) สร้างภูมิภาคที่ปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข โดยจะสนับสนุนวัคซีนเพิ่มเติม และถ่ายทอดการผลิตวัคซีน การวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือในมิติอื่น ๆ เช่น การจัดการภัยพิบัติ อาชญากรรมข้ามชาติ และรักษาสันติภาพในทะเลจีนใต้

                         

3) สร้างภูมิภาคที่ไพบูลย์ เปิดการเจรจาการพัฒนา การส่งเสริม RCEP โดยจีนจะนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปี ข้างหน้า และขอให้สมาชิกอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมในระเบียงการค้า

 

4) สร้างภูมิภาคที่สวยงาม โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมที่จะจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และความร่วมมือด้านทะเล

 

5) สร้างภูมิภาคที่มีมิตรภาพระหว่างกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ความร่วมมือของสตรี ความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา การส่งเสริมผู้นำรุ่นเยาว์ และความร่วมมือด้านกีฬา

                                   นายกฯ ย้ำเวทีอาเซียน-จีนมุ่งสานต่อความร่วมมือทุกมิติเพื่อประชาชน

ประธานาธิบดีจีนยังเน้นย้ำการธำรงความยุติธรรม ส่งเสริมประโยชน์ของประชาชน และดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งกระชับความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ทำให้อาเซียน-จีน มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ กล่าวยินดีที่ได้พบกันอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ครบครอบความสัมพันธ์ที่มีความหมายอย่างยิ่ง

 

ในวันนี้เราได้ขยายความร่วมมือที่ครอบคลุมหลังจากที่มีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ซึ่งจีนนับเป็นประเทศคู่ภาคีแรกที่ได้ร่วมกับอาเซียน และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน อีกทั้งยังให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในภูมิภาค ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข จึงขอขอบคุณความพยายามของจีนในการให้ช่วยเหลืออาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง

 

นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวแสดงความยินดีต่อวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ฯ ในฐานะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” ซึ่งจะขยายความร่วมมือ ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

 

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนยังเป็นเสาหลักความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงนามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea:DOC) เมื่อปี 2545 และล่าสุดในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านในปีนี้ อีกทั้งการเป็นคู่ค้าสำคัญของกันและกัน และได้ร่วมกันต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งล้วนเป็นพัฒนาการสำคัญให้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันแนบแน่นยิ่งขึ้นในอนาคต

                               นายกฯ ย้ำเวทีอาเซียน-จีนมุ่งสานต่อความร่วมมือทุกมิติเพื่อประชาชน

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประชาชนจีน ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมชื่นชมความสำเร็จด้านการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน และการเป็นมหาอำนาจของโลกที่มีความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นานาประเทศ 
รวมทั้งชื่นชมวิสัยทัศน์ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มุ่งสร้าง “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” แสดงถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะรับมือกับประเด็นท้าทายร่วมกัน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาเซียนในการเสริมสร้างประชาคมที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เผยถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และประเด็นท้าทายอื่น ๆ มุ่งสู่ Next Normal ด้วยการพลิกโฉมประเทศไทย โดยนำเสนอ 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

1. เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดี มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาช่องว่างทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนบนหลักการของความสมดุลตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และอาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตัวอย่างความสำเร็จของจีนในการขจัดความยากจน และความหิวโหย การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านนโยบาย “คลีนเพลท” ฟื้นฟูชนบทที่เน้นการกระจายความเจริญ โดยอาจพิจารณาส่งเสริมการทำการตลาดร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของจีน ทั้งในอาเซียนและอนุภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งไทยจะเข้ารับตำแหน่งประธานร่วมกับจีนในปี 2565 และ ACMECS ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญ

 

2. มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนทุกช่วงวัย ผ่านการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ MSME ผู้ประกอบการสตรี และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับยุค 4IR และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยอาเซียน-จีนควรส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับการเร่งสร้างสังคมดิจิทัลเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในยุค Next Normal 

 

3. การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งรวมถึงอาหาร พลังงาน และการทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อม ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะสานต่อบทบาทผลักดันความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและความยั่งยืนอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เชื่อมโยงกันอย่างสมดุลของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โมเดลเศรษฐกิจ BCG และพร้อมจะยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

 

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค เน้นย้ำความสำคัญของดุลยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางบนพื้นฐานของหลักการ 3 เอ็ม ซึ่งคือ Mutual Trust Mutual Respect และ Mutual Benefit เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูของทุกประเทศจากความบอบช้ำที่เกิดจากโควิด-19 

 

และยืนยันเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของไทยเพื่อร่วมมือในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนของเราให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป ซึ่งในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวตอบนายกรัฐมนตรีว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ประสานงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอาเซียน และจีนขอสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีหน้า