ส่องอนาคต “ประมงนอกน่านน้ำไทย” ปี2566

27 ต.ค. 2565 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2567 | 16:48 น.

“นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” อัพเดท อนาคต “ประมงนอกน่านน้ำไทย” ใน 2566 ข่าวดีอินโดฯ เปิดน่านน้ำอีกครั้ง ประเมินในทะเลคาดมีปลากว่า 20 ล้านตัน เมื่อกำหนดมาเป็น MSY ก็น่าจะทำการประมงได้ถึงปีละกว่า 10 ล้านตัน รัฐบาลจะเอาอย่างไร ปัจจุบันมีเรือประมงไทยนอกน่านน้ำ 2 ลำ เท่านั้น

นายวิชาญ  ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ผมได้รับแขกที่เป็นภาครัฐ เอกชน รวมทั้งรัฐมนตรีของต่างประเทศที่เกี่ยวกับการประมงของประเทศต่างๆหลายคณะในฐานะส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย ซึ่งแสดงถึงความสนใจในการที่จะให้เรือประมงจากประเทศไทยเข้าไปทำการประมงในประเทศของเขาได้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งในขณะเดียวกันก็แปลกใจ  ทำไมคนเหล่านี้จึงไม่ไปติดต่อรัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางรายก็ไปติดต่อ แต่เขาบอกว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง

 

“ผมก็ตอบไปว่า ที่คุยไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่มีความรู้ครับ นอกจากนั้น ยังโง่ที่ไม่รู้จะทำอะไร และงี่เง่าเพราะกลัวพ่อ (EU) เขาถาม และตอบคำถามไม่ได้ เลยไม่กล้าจะให้เรือประมงนอกน่านน้ำของเราออกไปทำประมงในประเทศอื่นก็เลยต้องปล่อยให้เรือจอดและรอจมอย่างที่เห็นกันอยู่อย่างทุกวันนี้”

 

ส่องอนาคต “ประมงนอกน่านน้ำไทย” ปี2566

 

ล่าสุดมีคณะหนึ่งมาจากอินโดนีเซีย มาส่งข่าวว่าอินโดนีเซียพร้อมแล้วที่จะเปิดน่านน้ำอีกครั้งหลังจากปิดมานานเช่นเดียวกัน เพราะการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่งต้องขอชมครับ เขารู้ว่าผิดพลาดไป จึงต้องเปลี่ยนคนดูแล เปลี่ยนนโยบาย เพราะถ้าขืนปิดน่านน้ำต่อไป ประเทศชาติเขาเสียหาย เนื่องจากประเทศเขามีทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาล และในทะเลนั้นก็มีปลาที่เคยประเมินว่ามีถึงกว่า 20 ล้านตัน ซึ่งเมื่อกำหนดมาเป็น MSY ก็น่าจะทำการประมงได้ถึงปีละกว่า 10 ล้านตัน เรือประมงท้องถิ่นจับยังไงก็ไม่หมด

 

 

ยังเหลืออีกมากมายที่จะให้เรือประมงต่างชาติเข้าไปใช้ประโยชน์ (ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982) ดังนั้น เขาจึงส่งสัญญาณผ่านเอกชนมาว่า เขาพร้อมที่จะเปิดน่านน้ำอีกครั้งทำให้ ในช่วงนี้ จึงมีเอกชนหลายรายเริ่มจะเดินสายมายังประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน เพื่อเจรจาหาลู่ทางในการกลับเข้าไปในน่านน้ำอินโดนีเซียกันอีกครั้ง

 

ส่องอนาคต “ประมงนอกน่านน้ำไทย” ปี2566

 

"ดังนั้น ผมจึงอยากจะกล่าวว่า ในปีหน้า 2566 จะเป็นปีแห่งการประมงนอกน่านน้ำไทยยุคใหม่ เพราะจอดกันมาเกือบ 8 ปี (เท่ากับนายกฯคนที่นับเลขไม่ถูกนั่นแหละครับ) ขาดรายได้ ขาดสัตว์น้ำจนต้องนำเข้าปีละ 500,000-600,000 ตันมาเพื่อการบริโภคของคนไทย โดยที่ผู้บริหารทุกประเทศมิได้สำนึกหรือรู้สึกรู้สาอะไรอีก 2 เดือนกว่าๆก็จะหมดปีแล้ว คงจะทำอะไรไม่ทันกัน"

 

เพื่อให้เพื่อนทุกคนได้เข้าใจว่าก่อนหน้านี้ การประมงนอกน่านน้ำของไทย มีความเป็นมาอย่างไร ในฐานะที่ผมมีส่วนในการรับรู้และขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้น ขอนำมาเล่าโดยสรุป ดังนี้

 

1) การประมงนอกน่านน้ำไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2508 ในสมัยที่เขตทะเลของประเทศต่างๆอยู่ที่ 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง นอกนั้นถือว่าเป็นทะเลหลวง ดังนั้น การทำการประมงในเขตอ่าวไทยที่อยู่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล จึงเป็นการประมงนอกน่านน้ำไทย

 

 

2) ภายหลังการยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) ประเทศต่างๆมีการประกาศเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนออกไปถึง 200 ไมล์ทะเล (แม้ว่าจะยังยกร่างไม่เสร็จและยังไม่มีการรับรอง) ทำให้ทะเลหลวงในพื้นที่อ่าวไทยทั้งหมดหายไป และการประมงนอกน่านน้ำไทยเริ่มประสบปัญหาอันเนื่องมาจากประเทศต่างๆมีการจับเรือประมงของไทยที่เคยไปทำการประมงในเขตนั้นอย่างเสรีได้สิ้นสุดลง มีเรือประมงไทยถูกประเทศเพื่อนบ้านจับกุมนับพันลำและลูกเรือกว่า 30,000 คนต้องติดคุก ในช่วงปี พ.ศ. 2516-2535

 

 

3) ในปี พ.ศ. 2519 ประเทศไทย (โดยภาคเอกชนไทย) มีการทำสัญญาทำการประมงร่วมกับต่างประเทศเป็นครั้งแรก อันเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการประมงนอกน่านน้ำไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยทำกับประเทศอินเดีย และหลังจากนั้นก็มีการทำสัญญากับประเทศอื่น ทั้งในนามของเอกชนกับรัฐต่างประเทศ เอกชนกับเอกชนภายใต้การอนุญาตจากรัฐ เช่น บังคลาเทศ พม่า เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย บรูไน จีน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย โมซัมบิก เยเมน โซมาเลีย ฯลฯ ซึ่งมีเพียงสัญญาระหว่างไทยกับบังคลาเทศเท่านั้นที่เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (กลุ่มบริษัทศิริชัยการประมงของเรา เป็นบริษัทที่ทำสัญญาการประมงนอกน่านน้ำมากที่สุดในประเทศไทย ถึง 12 ประเทศ)

 

4) ในช่วงปี พ.ศ. 2538 ประเทศไทยมีเรือประมงที่ทำการประมงนอกน่านน้ำไทยถึงเกือบ 4,000 ลำ โดยมีข้อตกลงหรือสัญญาในการทำการประมงร่วมกันกว่า 1,100 ลำ ส่วนที่เหลือ เป็นการลับลอบทำการประมงในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรือประมงเหล่านี้มีการนำสัตว์น้ำกลับมาป้อนตลาดในประเทศไทยทั้งเพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปเพื่อการส่งออกถึงปีละ 1.55-2.20 ล้านตัน/ปี

 

ส่องอนาคต “ประมงนอกน่านน้ำไทย” ปี2566

 

5) ภายหลังปี 2540 ปริมาณเรือที่ทำการประมงนอกน่านน้ำไทยลดลงเรื่อยๆอันเนื่องมาจากการเข้มงวดจับกุมของประเทศเจ้าของน่านน้ำ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ยกเว้น การประมงในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีจำนวเรือเพิ่มขึ้นอันเองมาจากการลดค่าเงินและการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศไทยมาก ในขณะที่ราคาสัตว์น้ำมีราคาสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการลดค่าเงินบาท ซึ่งทำให้มีเรือประมงไทยเข้าไปทำการประมงในอินโดนีเซียภายใต้ความตกลงต่างๆถึงกว่า 1,000 ลำ

 

6) ในปลายปี พ.ศ. 2557 ประเทศอินโดนีเซียมีนโยบายยกเลิกสิทธิการทำประมงของเรือประมงต่างชาติ ทำให้เรือประมงไทยส่วนใหญ่ต้องเดินทางกลับประเทศไทย บางส่วนขออนุญาตไปทำการประมงในประเทศอื่น บางส่วนย้ายไปทำการประมงในทะเลหลวง และบางส่วนถูกทิ้งร้างไว้ในประเทศอินโดนัเซีย

 

ส่องอนาคต “ประมงนอกน่านน้ำไทย” ปี2566

 

7) ภายหลังการได้รับใบแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรป (ใบเหลือง) กรณี IUU Fishing รัฐบาล คสช.มีคำสั่งเรียกเรือประมงนอกน่านน้ำไทยทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้นให้กลับเข้าเทียบท่า และไม่อนุญาตให้ออกไปทำการประมงอีก รวมทั้งดำเนินคดีกับเรือประมงที่ไม่สามารถกลับเข้าท่าได้ทันตามกำหนด อันเป็นการอวสานการประมงนอกน่านน้ำไทย ตั้งแต่ปี 2558

 

สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน คือเรือประมงนับพันลำที่เคยหาปลามาให้คนไทยกินปีละไม่ต่ำกว่า 600,000 ตัน ต้องจอดและรอจมอย่างที่เห็น ผู้ประกอบการ (เจ้าของเรือ) ไม่มีรายได้แม้แต่บาทเดียว อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งเรือแม่ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ/ห้องเย็น ท่าเทียบเรือ รถคนส่ง ผู้ค้า คนงานนับหมื่นคน รวงมทั้งเกษตรกรผู้ผลิตอาหารนับหมื่นต้องปิดกิจการ/รายขาดรายได้ ประเทศไทยขาดรายได้จากการส่งออกเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ และเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ฯลฯ

 

เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท โดยไม่มีรัฐบาล/อธิบดี/เจ้าหน้าที่คนใดสนใจดูแลแก้ไข9) ทุกวันนี้มีเรือประมงทำการประมงนอกน่านน้ำในเขตทะเลหลวงเพียง 2 ลำ  จากการถูกเรียกเรือกลับเข้าฝั่งและบังคับให้ต้องจอดเรือกันมาตั้งแต่ปลายปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เรือประมงที่เคยมีศักยภาพในการทำประมงนอกน่านน้ำเหลือแต่ซากอย่างที่เห็น ซึ่งถ้าจะฟื้นฟูให้กลับมาใช้ใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ผมเคยโพสต์ใน Facebook นี้แล้ว ตั้งแต่ปี 2562

 

แต่ที่สำคัญ ต้องกลับไปดูที่นโยบายของรัฐบาลครับว่าพร้อมที่จะสนับสนุนการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างไร เพราะที่ผ่านมา เขาปิดประตูตายอยู่ด้วยความไม่รู้ ด้วยความกลัวพ่อ EU ของเขาจนไม่กล้าให้เรือของเราออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ

 

 

 “ผมมีโอกาสแวะไปบางเสร่ ชุมชนประมงเล็ก​ๆที่ชลบุรีไม่น่าเชื่อครับ​ว่าจะเห็นเรือจอดและจมที่เป็นผล​มาจากการแก้ปัญหา​ IUU​ Fishing​ ของรัฐบาล​ไทยกับเขาด้วยบางลำเจ้าของ​เสียดายไม้ รื้อเองเก็บไม้ไว้ใช้ประโยชน์​ โดยไม่ได้รับการเยียวยาใดๆจากรัฐผมนึกถึง​ตอนต่อเรือที่ช่างต่างพิถีพิถัน​เลือกไม้แต่ละแผ่น ดัดไม้แต่ละตัว กว่าจะประกอบกันเป็นเรือแต่ละลำเศร้าใจจริงๆ

 

อยากถามผู้กระทำครับ​ว่า พวกคุณ​เห็นผลงานแล้วรูสึกกันอย่างไร