“มานิจฟาร์ม” เจ๋งผลิต-ขาย พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เจ้าแรก ช่วยลดนำเข้า

07 พ.ย. 2565 | 08:48 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2565 | 16:13 น.

เปิดตัว “มานิจฟาร์ม” ผลิตพ่อแม่-ปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ได้เอง พร้อมขายเจ้าแรก กรมปศุสัตว์ ไม่ขวาง ระบุเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร ด้านบอสใหญ่แจงที่มาที่ไป เลี้ยงง่ายให้ผลผลิตสูง เวอร์ชั่น 3 คาดให้ผลผลิตมากกว่า 317 ฟองต่อแม่ต่อปี หวังเกษตรกรเข้าถึงพันธุ์สัตว์ลดการนำเข้า

ปัญหาวงการไก่ไข่เกิดขึ้นทุกปีทั้งลูกไก่ราคาแพง ขาดตลาด เกษตรกรถูกบังคับซื้อลูกไก่พ่วงอาหารสัตว์จากบริษัทใหญ่ เป็นต้น และทุกปีเช่นกันจะมีสหกรณ์/บริษัท ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอแบ่งโควตานำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จาก 16 บริษัทเดิมที่นำเข้าทุกปี ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อกำหนดแผนการนำเข้าไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) และ ไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด)ที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชน เกษตรกร ผู้ค้า ที่จะมีการประชุมในวันที่ 10 พ.ย. นี้

 

 

“มานิจฟาร์ม” เจ๋งผลิต-ขาย พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เจ้าแรก ช่วยลดนำเข้า

 

 อย่างไรก็ดีปีนี้กระแสความร้อนแรงของปัญหาต่างๆ ได้ลดลง ส่วนหนึ่งจากวันนี้ประเทศไทยสามารถผลิตไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) และไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) ได้เองแล้ว โดย “มานิจฟาร์ม” ตั้งอยู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่ได้พัฒนาสายพันธุ์พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ Collar Bar และ Z-270 ซึ่งปรับปรุงจากไก่พ่อแม่พันธุ์ลูกผสม American Rhode island และไก่พื้นเมือง ของสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ เป็นพื้นฐาน และเวลานี้มีบริษัท เกษตรกร ได้ทดลองซื้อไปเลี้ยงกันแล้ว

 

 

ดร.มานิจ วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเฮอริเทจ บรีดดิ้ง จำกัด เจ้าของมานิจฟาร์ม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นอดีตข้าราชการสภาพัฒน์ฯ จบการศึกษาด้านเจเนติกส์ (พันธุวิศวกรรม) และลาออกจากราชการแล้วมาปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ไก่ไข่ โดยต่อยอดจากสายพันธุ์เดิมของกรมปศุสัตว์ในยุค ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร ที่เคยทำเอาไว้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ไก่ไข่ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และต้องการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ที่อยากให้มีอิสระในการทำอาชีพไม่ถูกใครเข้ามาครอบงำ ผลเสียที่ตามมาความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรจะน้อยลง

 

 

สำหรับสายพันธุ์ไก่ไข่ที่ทางบริษัทได้ปรับปรุง จะคัดเลือกจากไก่ที่มีพันธุกรรมดีที่สุด ถ้ามีพันธุกรรมด้อยจะทำลายหรือเอาออกจากฝูงทันที โดยการตรวจสอบพันธุกรรมนี้ไทยยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจที่ประเทศจีน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

 

ส่วนวิธีการปรับปรุงพันธุ์ได้ใช้หลากหลายกระบวนการ ได้แก่ 1.การสร้างฝูงจากพันธุ์ที่ได้มา 2. การคัดเลือกลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์ให้ตรงหรือใกล้เคียงกับสายพันธุ์ตั้งต้น 3. ตรวจสอบการผ่าเหล่าที่เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในสายพันธุ์นั้น ๆ 4.ขยายฝูงเพื่อเก็บฝูงพันธุ์ ซึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ได้ทำมายาวนานถึง 18 ปี พันธุ์ไก่ไข่ที่ค้นพบมีไข่ดก ผลิตไข่ได้สูงสุดเฉลี่ย 320 ฟองต่อแม่ต่อปี ให้ผลผลิตเร็ว มีความต้าน ทานต่อเชื้อแบคทีเรีย สามารถผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ได้ตามที่ต้องการ ในราคาไม่แพง (ดูกราฟิกประกอบ) และมีปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ที่ผลิตขึ้นเอง ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกษตรกรทุกรายได้เข้าถึงพันธุ์สัตว์ ลดปัญหาความขัดแย้ง สามารถแบ่งปันโควตาร่วมกันได้ ซึ่งทางฟาร์มฯมีความยินดีหากจะมีการนำไปต่อยอด

 

 

“มานิจฟาร์ม” เจ๋งผลิต-ขาย พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เจ้าแรก ช่วยลดนำเข้า

 

 ดร.มานิจ กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมามานิจฟาร์ม ได้ขายลูกไก่จำนวนหนึ่งให้แก่เกษตรกรซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เกษตรกรพอใจ นอกจากนี้ในส่วนของการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่จากต่างประเทศ จะต้องขอโควตาผ่านกรมปศุสัตว์ ในกรณีของมานิจฟาร์มเป็นพันธุ์ภายในประเทศ จึงต้องการส่งเสริมให้มีสต๊อกพันธุ์เป็นของตนเอง ไม่ต้องหาซื้อจากต่างประเทศเพื่อลดบัญหาการครอบครองพันธุ์สัตว์ หากไข่ไก่มีราคาแพงก็จะเพิ่มกำลังการผลิตให้กับเกษตรกร แต่ถ้าไข่ไก่ราคาถูก ก็สามารถลดกำลังการผลิตได้

 

 

“ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้ติดต่อมาหา แจ้งว่าให้เป็นทางเลือก ไม่ปิดกั้น ปัจจุบันพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ของมานิจ ฟาร์ม มี 2 version โดย version 1 ให้ปริมาณไข่ไก่เฉลี่ย 312 ฟองต่อแม่ต่อปี version 2 จำนวน 317 ฟอง ต่อแม่ต่อปี ส่วน version 3 ที่จะกระจายพันธุ์ได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 คาดจะให้ผลผลิต มากกว่า 317 ฟองต่อแม่ต่อปี จะเห็นว่ามีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นไป โดยสายพันธุ์ที่ผลิตจะให้ผลผลิตเร็ว ให้ไข่ฟองแรกเพียง 15 สัปดาห์ของการเลี้ยง ซึ่งเร็วกว่าแม่ไก่นำเข้าจาก ต่างประเทศ จากเป็นไก่เมืองร้อน เลี้ยงง่าย ไม่ต้องดัดแปลงสิ่งแวดล้อมมาก”

 

 

 

ดร.มานิจ กล่าวถึงราคาขาย PS และ GP ของมานิจฟาร์มว่า จะขายราคาไม่แพง เพราะต้องการแบ่งให้เกษตรกรไปเลี้ยงและมีแถมพ่วงด้วย เทียบกับพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่มีบริษัทนำเข้าจะให้ไข่ไก่ฟองแรกเมื่ออายุการเลี้ยง 18-22 สัปดาห์ ราคาต่อตัวประมาณ 12 ยูโร (มากกว่า 400 บาท) ยังไม่รวมค่าระวางเรือ ค่าภาษี และอื่นๆ ซึ่งถือว่าแพงกว่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็นิยมใช้ แต่ข้อเสียคือตัวพันธุ์สัตว์ต้องดัดแปลงสิ่งแวดล้อมมาก เพราะมาจากยุโรปที่เป็นเมืองหนาว

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,833 วันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2565