สืบเนื่องจาก นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ถึง อธิบดีกรมการข้าว ตามที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ทั้งนี้ กรอบวงเงินดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ ไม่เกิน 20,000 บาท กรอบวงเงินจำนวนรวม 55,083.086 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือแนวทางการดำเนินโครงการและวิธีการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวร่วมกัน โดยเป็นการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง มีผลสรุปดังนี้
1. เห็นควรให้กรมการข้าวสั่งจ่ายเช็คจาก งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 15,225 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส.ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
2. รับทราบแผนการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินตามโครงการฯ 5 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 24 - 28 พฤศจิกายน 2565 โตยกำหนดจัดกิจกรรม Kick off การจ่ายเงินในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนั้น เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. และมติคณะรัฐมนตรี จึงขอให้กรมการข้าวสั่งจ่ายเช็คให้ ธ.ก.ส. ภายในช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมการข้าวกำลังรอบัญชีรายชื่อจากกรมส่งเสริมการเกษตร รวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนส่งมาให้ กรมการข้าวก็จะส่งรายชื่อทั้งหมด พร้อมกับเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทให้ ธ.ก.ส. ก่อนเที่ยงของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เมื่อคืนงบประมาณไปแล้ว ทางกรมการข้าวจะของบส่วนอื่นให้มาดูแลพี่น้องเกษตรกร คือ งบกลางที่จะมาลงให้กับศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อปฎิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน ซึ่งกำลังหารือกับทางผู้ใหญ่อยู่ ประเมินจะใช้งบกว่า 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 3,000 ศูนย์ข้าวชุมชน
"ทุกอย่างคงเดิม แต่บางศูนย์ข้าวชุมชนก็มีเครื่องจักรกลการเกษตรอยู่แล้ว หรือถ้าบางศูนย์ไม่มีอะไรเลย ก็ต้องนำงบไปสนับสนุน ถ้าเราต้องการทำข้าวให้มีคุณภาพสู้กับประเทศอื่นได้ ต้องใช้เครื่องทุ่นแรง เพราะแรงงานในประเทศไม่มี และการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็นทำให้ต้นทุนสูง ต้องหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ สารจุลินทรีย์ เข้ามาช่วยเพื่อส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรลด และเห็นถึงความอันตรายของสารเคมี"
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า ทำไมข้าวหอมมะลิไทย แพ้ข้าวหอมกัมพูชา หรือ สู้ข้าวหอมต่างประเทศไม่ได้ในเวลานี้ สาเหตุเพราะมีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีมากเกินไป ซึ่งจะไปทำลายความหอมของข้าวที่อยู่ในตัว ในอนาคตหากเกษตรกรลดการใช้สารเคมีมากเท่าไร จะทำให้ความหอมของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมาสู่ภาวะปกติได้ รวมทั้งผลผลิตไม่เสียหายด้วย
“ผมขอเรียนชี้แจงว่า ตั้งแต่ผมได้เข้ามารับตำแหน่ง ได้ทราบถึงปัญหานี้เช่นกัน จึงได้เร่งรัดกองวิจัยและพัฒนาข้าว กองเมล็ดพันธุ์ข้าว ร่วมกันแก้ไขปัญหา และหาสาเหตุข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นถึง คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในปัจจุบัน ซึ่งกรมการข้าวมีงานวิจัยเรื่องความหอมข้าวขาวดอกมะลิ 105 ยืนยันแล้วว่าพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมล็ดพันธุ์แท้จากกรมการข้าว ไม่พบว่ามีความแปรปรวนของลักษณะสรีระและทางพันธุกรรม รวมทั้งลักษณะทางการเกษตรแต่อย่างใด และได้พิสูจน์ความหอมแล้วยังมีความหอมเหมือนเดิมไม่น้อยลง"
นอกจากนี้ ปัญหาความหอมของข้าวที่ลดลง จากงานวิจัยที่ทำการศึกษา พบว่าคุณภาพเมล็ดทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และความหอมของพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีความแปรปรวน โดยเฉพาะความหอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการในแปลงนาและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว นั่นเป็นเพราะพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการคัดเลือกจากพันธุ์พื้นเมืองที่ปรับตัวได้ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ต้นสูง ฟางข้าวอ่อนล้มได้ง่าย
ดังนั้น จึงเหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ดินทรายมีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ในช่วงข้าวออกดอกซึ่งเป็นระยะที่ข้าวสะสมแป้งน้ำในนาจะซึมลงใต้ดิน ทำให้น้ำไม่ขังแปลง เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการสร้างสารหอมระเหย 2 AP (2-Acetyl-1-Pyrroline) จึงทำให้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีความหอมมาก อีกทั้งในช่วงข้าวสะสมแป้งเป็นช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น หากปีใดมีอากาศเย็น (อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส) ในช่วงระยะเวลายาวนานจะทำให้สารหอมระเหยในข้าวจะคงอยู่ในเมล็ดข้าวได้มาก ผลผลิตข้าวปีนั้นจะหอมมากกว่าปีที่มีอากาศร้อน”
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดการปลูกข้าวหอมให้มีคุณภาพและความหอมที่ดีจะต้องมีการปฏิบัติดังนี้
1. การจัดการน้ำ การระบายน้ำออกจากแปลงนาหลังระยะออกดอก 7 วัน จะทำให้การสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น คุณภาพการสี และคุณภาพหุงต้มรับประทานดีขึ้น
2. การจัดการธาตุอาหารในดิน ธาตุหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแตสเซียม และธาตุรอง ได้แก่ แคลเซียม ซัลเฟอร์ แมงกานีส และแมกนีสเซียม ที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุดดิน จะทำให้ข้าวสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น
3. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยรักษาความหอมสูง ต้องเก็บเกี่ยวข้าวคือระยะพลับพลึง ในระยะ 25-30 วันหลังออกดอก
4. การจัดการเก็บรักษาข้าวสารเพื่อช่วยรักษาความหอมข้าวให้นานขึ้น โดยสภาพปกติเก็บควรเก็บข้าวสารไม่เกิน 5 เดือน หากเป็นไปได้เก็บในที่ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ยาวนานกว่าสภาพปกติและคงคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากในอดีตหลายด้าน
โดยเฉพาะการนำเครื่องเกี่ยวนวดมาใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ทำให้ข้าวที่เกี่ยวได้มีความชื้นสูงกว่าการเกี่ยวด้วยมือและตากให้แห้งก่อนนำเข้าโรงสี ในขณะที่ข้าวที่ได้จากเครื่องเกี่ยวนวดจะต้องนำไปลดความชื้นอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จึงจะทำให้คุณภาพที่ดีได้มาตรฐานจะส่งผลให้ ความหอมของข้าวหอมมะลิในปัจจุบันต้องผ่านกระบวนการอบลดความชื้น ทำให้มีโอกาสที่จะมีแนวโน้มทำให้ความหอมน้อยลงไปจากกระบวนการผลิตข้าวแบบดั้งเดิม
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวอีกว่าในปี 2566 กรมการข้าว ได้มอบหมายให้กองเมล็ดพันธุ์ข้าว ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ผลผลิตข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เฉลี่ยเพียง 353 กิโลกรัมต่อไร่ สาเหตุหนึ่ง มาจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ชาวนาเก็บไว้ใช้เองหลายรอบ มีคุณภาพต่ำลง การที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดี มีปัจจัยหลายอย่างทั้งคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ปัญหาสำคัญที่พบและเป็นปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบันเพราะมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพข้าวไทย ก็คือ ชาวนาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีชาวนามักจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ใชเองต่อเนื่องกันหลายปีส่งผลให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพต่ำ
จากสาเหตุมีข้าวแดงและพันธุ์อื่นปนทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ กรมการข้าว จึงเห็นสมควรส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ผลิตและจำหน่ายโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้