วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 4 พร้อมด้วยสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมชาวนาข้าวไทยและสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในพืช 5 ชนิด คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์มและข้าวโพด ได้เดินหน้ามาถึงปีที่ 4 วันนี้จะ Kickoff การจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รวมทั้งเริ่มต้นโครงการคู่ขนานหรือมาตรการคู่ขนานที่จะช่วยยกระดับราคาข้าวในตลาดและเริ่มจ่ายเงินไร่ละ 1,000 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีใช้เวลาพิจารณาร่วม 2 เดือน วันนี้ผ่านพ้นกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนทั้งหมดครบถ้วนแล้ว ถึงเวลาที่กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเจ้าของเรื่องนับหนึ่ง เพื่อแจ้งให้ชาวนาทั่วประเทศได้รับทราบ ซึ่งทำโดยต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีที่ 1-3 และเข้าสู่ปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ ถือว่ามีความสำคัญเป็นปีพิเศษสุดท้ายของโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว
“ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวนาทุกคนที่รอคอยทั้งเงินส่วนต่าง มาตรการคู่ขนานและเงินไร่ละ 1,000 ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งต้องจ่ายงวดแรกตั้งแต่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต้องใช้เวลา ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาแล้ว จ่ายเงินทีเดียว 6 งวด จากนี้จะไปเริ่มงวดที่ 7 ต่อไป จนถึงงวดที่ 33” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ต.ค. 65 และภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-28 ก.พ. 66 สำหรับงบประมาณทั้ง 3 โครงการทั้งเงินส่วนต่าง จากโครงการประกันรายได้ ไร่ละ 1,000 และมาตรการคู่ขนานรวมทั้งสิ้น 81,265 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ งวด 1-6 ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 75% ของทั้งหมด การช่วยค่าเพาะปลูกและค่าบริหารจัดการ จะโอนให้กับเกษตรกรทั้งหมด 4.68 ล้านครัวเรือน ใช้งบประมาณ 55,083 ล้านบาท โอนงวดแรกวันนี้แล้วงวดที่สองวันพรุ่งนี้ และถัดไปรวม 5 งวด
จ่ายวันที่ 24-28 พ.ย.นี้ งวดที่หนึ่งโอนให้เกษตรกร 804,017 ครัวเรือน งวดที่สอง 985,871 ครัว งวดที่สาม 978,459 ครัวเรือนงวดที่สี่ 980,489 ครัวเรือนและงวดที่ห้า 546,458 ครัวเรือน รวม 4,295,294 ครัวเรือน และการจ่ายเงินส่วนต่างข้าว 5 ชนิด รวม 4 ปี เงินส่วนต่างที่บางครอบครัวได้รับสูงสุด ข้าวหอมมะลิ สูงสุด 58,988 บาท/ครัวเรือน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ สูงสุด 60,086 บาท/ครัวเรือน ข้าวหอมปทุมธานี สูงสุด 41,527 บาท/ครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้า เงินส่วนต่างสูงสุด 76,601 บาท/ครัวเรือน และข้าวเปลือกเหนียว เงินชดเชยสูงสุด 71,465 บาท/ครัวเรือน
“ส่วนประกันรายได้มันสัมปะหลัง ปาล์มน้ำมันข้าวโพดและยางพาราอยู่ในขั้นตอนกระบวนการรอนำเข้าสู่ที่พิจารณาของคณะรัฐมนตรี ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ทำต้นเรื่องเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ รอกระบวนการ สำหรับปาล์มน้ำมันและข้าวโพด ตอนนี้ประกันรายได้และเงินส่วนต่างยังไม่จำเป็น เนื่องจากตอนนี้ข้าวโพดในตลาด ราคา 11-12 บาท/กก. ปาล์มน้ำมัน ประกันที่ 4 บาท/กก. แต่ราคาในตลาด 5-6 บาท เกือบ 7 บาท/กก. มันสำปะหลังประกันที่กิโลละ 2.50 บาท/กก. ตอนนี้กิโลกรัมละ 3 บาทกว่า ยังรอได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินส่วนต่างชดเชย ส่วนยางพาราก็รอกระบวนการพิจารณาของ ครม.ต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว