ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคอันตรายติดต่อได้ในคนและสัตว์ โดยสามารถติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว เป็นต้น ในประเทศไทย สัตว์ที่พบว่ามีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด คือ สุนัข ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในระดับพื้นที่
โดยมาตรการป้องกันโรคที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ และมีทักษะในการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง จึงจะส่งผลต่อความสำเร็จในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ในการนี้ จึงสั่งการให้กรมปศุสัตว์ ร่วมทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดโครงการฝึกอบรมอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุม วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
“โครงการฝึกอบรมเพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า ปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืนในรูปแบบของประชารัฐโดยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน และเพื่อสร้างอาสาปศุสัตว์รุ่นใหม่และพัฒนาอาสาปศุสัตว์เดิมที่มีอยู่แล้วให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมในทุกพื้นที่”
ดร.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า การฝึกอบรมดังกล่าว ถือเป็นการสร้างและพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า และอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของชุมชนที่จะช่วยให้การเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเกิดความอย่างยั่งยืน โดยเมื่ออาสาปศุสัตว์ทุกคนมีความรู้ มีความเข้าใจ และมีทักษะในการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง ประกอบกับปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะส่งเสริมให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและโรคระบาดสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่เป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ”
ด้าน น.สพ. สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีที่มาจากที่ ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระปณิธานเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทย
รวมถึงสรรพชีวิต ภายใต้ร่มพระบารมีให้ได้รับความผาสุกตราบจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังทรงมีพระกระแสรับสั่ง เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดของกองทัพเรือ ณ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 ความว่า “ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ” พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย อาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า จึงถือเป็นหัวใจหลักของชุมชนที่จะช่วยให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเกิดความอย่างยั่งยืน
น.สพ. สมชวน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดฝึกอบรมในวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 134 คน โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิด ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีเป้าหมายการฝึกอบรมทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,600 คน ซึ่งเป็นการสร้าง และพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อดำเนินการสร้างอาสาปศุสัตว์ขึ้นใหม่ และพัฒนาอาสาปศุสัตว์ที่มีอยู่เดิม ให้มีจำนวนครอบคลุมในทุกพื้นที่ โดยมีเป้าหมายอย่างน้อย 2 - 3 คนต่อตำบล ซึ่งอาสาปศุสัตว์ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรม บัตรประจำตัวอาสาปศุสัตว์ และหนังสือมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตวแพทย์ ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
“ จากโครงการนี้ ช่วยทำให้เกิดการบูรณาการการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมในรูปแบบของประชารัฐ โดยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้อาสาปศุสัตว์ที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมในทุกพื้นที่ สุนัขและแมวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมทั่วถึง และมีคุณภาพ ลดอุบัติการณ์การเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย และประชาชนได้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า มีความตระหนักในการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ”