"ประกันรายได้ยางพารา " ปี 4 หืด! รัฐเงินขาด 1.1 หมื่นล้าน

08 ธ.ค. 2565 | 03:38 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 11:04 น.

ชาวสวนยางอึ้ง “ประกันรายได้ยางพารา” ปี 4 รัฐมีให้แค่ 5 พันล้าน ยังขาดอีกกว่า 1.1 หมื่นล้าน “คลัง-กยท.” ดึง 15 แกนนำหารือทางออก สมาคมฯสวนยาง แนะขายพันธบัตร ตีกันนำเงินเซสส์มาใช้ ขู่หากใช้ฟ้องศาลแน่ ด้านเครือข่ายกยท.เสนอมีเท่าไรให้จ่ายเท่านั้น ชงจ่ายเยียวยารายละ 3,000 บาท

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดประชุมหาแนวทางในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ (1 ธ.ค.65) ผ่าน ZOOM ออนไลน์ โดยเชิญผู้แทนเกษตรกร 15 คนเข้าร่วม เพื่อรับทราบความคืบหน้าในโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 คาดใช้วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง (ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565) มีจำนวน 1.6 ล้านราย พื้นที่ยางที่กรีดได้ 18.1 ล้านไร่

เกณฑ์การชดเชยโครงการประกันรายได้ยางพารา

 

สำหรับเกณฑ์การชดเชยในโครงการประกันรายได้ ยางพาราต้องมีอายุ 7 ปีขึ้นไปและเปิดกรีดแล้ว ชดเชยให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกัน 6 เดือน โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีประกันรายได้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) นํ้ายางสด (DRC 100%) 57 บาทต่อ กก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาทต่อ กก. แบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างเจ้าของสวนยางและคนกรีดยาง 60 ต่อ 40 ของรายได้ทั้งหมด ล่าสุดโครงการฯมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในการประชุมครั้งนี้ทางกระทรวงการคลังได้แจ้งในที่ประชุมว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้ 5,000 ล้านบาท และตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรที่จะเดินหน้าโครงการประกันรายได้ยางพาราปี 4 ซึ่งตนได้ถามกลับว่า ยางพาราทำรายได้เข้าประเทศมากกว่าข้าว ทำไมรัฐจัดสรรงบให้น้อย และได้ยกตัวอย่าง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาย ก. ปลูกข้าว นาย ข. ปลูกยางพารา มีพื้นที่อยู่ติดกัน แต่ปรากฎว่าข้าวได้เงินชดเชยราคาประกัน และยังมีมาตรการคู่ขนานช่วยอีก ซึ่งหากยางพาราไม่ได้ ก็จะทำให้ทะเลาะกันและเกิดความแตกแยกได้

 

อัพเดท สถานะ ประกันรายได้เกษตรกร สินค้า 5 พืช

 

ทั้งนี้ยางพารา เป็นสินค้าเกษตรที่ทำรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศเป็นอันดับ 1 โดยปี 2564 ส่งออกได้กว่า 1.76 แสนล้านบาท ขณะที่ข้าวส่งออกได้ 1.09 แสนล้านบาท หากคิดที่จะนำเงินจากค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา หรือเงินเซสส์ (CESS) มาใช้ในโครงการประกันรายได้ เกษตรกรจะฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอความคุ้มครองแน่นอน เพราะถือเป็นเงินของเกษตรกร

 

ระดมสมอง เงินขาด "ประกันรายได้ยางพารา"

 

“เรื่องนี้รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมที่จะต้องหาเงินมาขับเคลื่อนโครงการ ตามนโยบายที่หาเสียงเข้ามา ซึ่งหากไม่มีเงิน ผมได้เสนอ 2 แนวทาง คือ หนึ่ง ใช้หลักการปี 2537-2538 เงินแทรกแซงยางพารา ใช้วิธีกู้ ธ.ก.ส. แล้วรัฐบาลคํ้าประกัน แล้วค่อยผ่อนส่ง แนวทางที่ 2 รัฐออกพันธบัตรขายเพื่อระดมทุนในส่วนที่ขาดอีก 1.1 หมื่นล้านบาท การมาโยนหินถามทางแบบนี้ทำไม่ถูกต้องซัดกลับไป เพราะถ้าเป็นพ่อค้ารู้แล้วว่ารัฐบาลมีเงินแค่ 5,000 ล้านบาท ก็จะยิ่งมากดราคายางลงไปอีก”

 

เขศักดิ์ สุดสวาท

 

ด้าน นายเขศักดิ์ สุดสวาท ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ยางพาราปี 4  รัฐบาลมีเงินจัดสรรให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เพื่อดำเนินโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นหากไม่ขัดนโยบายประกันรายได้ เสนอให้จ่ายเป็นเงินเยียวยาครอบครัวละ 3,000 บาทไปก่อน โดยใช้ฐานเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน 1.6 ล้านราย จะใช้เงิน 4,800 ล้านบาท  ยังเหลืออีก 200 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้ยางก็ให้ใช้เงินเท่าที่มีอยู่เดินหน้าไปก่อน แล้วรัฐค่อยจัดสรรเพิ่มเติมทีหลัง  ทั้งนี้ต้องรอ กยท.นำข้อเสนอต่าง ๆไปหารือกับสำนักงบประมาณ และผู้เกี่ยวข้องต่อไป 

 

 

 

 

 

\"ประกันรายได้ยางพารา \" ปี 4 หืด! รัฐเงินขาด 1.1 หมื่นล้าน

 

ฝ่ายการเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่สุดของไทย ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า จีนมีสัญญาณเชิงบวกในการรักษาเสถียรภาพ โดยการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์มีแนวโน้มที่ดี จะช่วยให้วิสาหกิจผลิตยางรถยนต์มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้น

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8-10 ธันวาคม พ.ศ. 2565