ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวว่า หมูลักลอบนำเข้าหรือ “หมูเถื่อน” ส่งผลกระทบใน 2 มิติหลัก คือ 1.กระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร หรือการเลี้ยงหมูของเกษตรกรไทย 2.ความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนกระทบต่อผู้บริโภค
สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู หมูเถื่อนทำให้มีหมูราคาถูกจำนวนมากทะลักเข้าไทย บิดเบือนกลไกราคา ทำให้ผู้เลี้ยงหมูไทยไม่สามารถขายหมูได้ตามต้นทุนการเลี้ยงที่แท้จริง ได้รับความเสียหายและไม่มีโอกาสในการทำกำไรจากการเลี้ยงได้ ทำให้ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในอาชีพ นอกจากนี้หมูเถื่อนมีความเสี่ยงที่จะนำเข้ามาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และเป็นพาหะของโรค ซึ่งควบคุมได้ยากมากและมีโอกาสกลับมาระบาดและสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยได้
นอกจากหมูเถื่อน จะถูกลักลอบนำเข้ามาในลักษณะแช่แข็งแล้ว ยังเข้ามาในรูปแบบของ หมูมีชีวิต ซึ่งเป็นพาหะของโรคที่สำคัญมาก หากประเทศต้นทางยังมีการแพร่ระบาดของโรค ASF จะส่งกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งผู้เลี้ยงหมู โรงงานอาหารสัตว์ ผู้บริโภค และยังกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร ท่องเที่ยว เพราะการระบาดของโรค ASF มีโอกาสทำให้หมูตาย 95-100% แม้โรคนี้ไม่ติดคนและเนื้อสุกรยังมีความปลอดภัย แต่เมื่อคนกินเข้าไปจะเป็นพาหะติดตามเนื้อตัว หรือทางอุจจาระ
ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบคุณภาพหมูเถื่อนทำได้ยาก จึงมีความเสี่ยงในการบริโภค เนื่องจากหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ชนิดแรคโทพามีน (Ractopamine) เช่น สหรัฐ บราซิล ประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้ คือ ประเทศทางยุโรป หากหมูเถื่อนมาจากประเทศที่ยังใช้สารเร่งเนื้อแดงมาขายในตลาดไทย จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง และจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ได้หยุดใช้สารเร่งเนื้อแดงมานานเกินกว่า 20 ปี แล้ว ทั้งนี้สารเร่งเนื้อแดงจะทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะการกินเครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับที่มีการสะสมของสารเร่งเนื้อแดงจำนวนมาก ผู้บริโภคที่เป็นโรคหัวใจ จะทำให้หายใจติดขัด
“การนำเข้าเนื้อหมูมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจากประเทศไทยปริมาณหมูหายไป 40-50% ก่อนหน้านี้ จากโรคระบาด ASF ทำให้เนื้อหมูราคาแพงขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งต้นทุนการเลี้ยง อาหารสัตว์และปัจจัยค่าเฝ้าระวังโรค กรณีการนำเข้าในภาวะฉุกเฉินจึงต้องมีการควบคุมให้มาจากประเทศที่มีความปลอดภัยสูงและมีปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้หมูราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาฉุดราคาในประเทศให้ต่ำลง เพราะส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ความสามารถในการแข่งขันต่ำ ดังนั้นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันตรวจสอบ เกษตรกร และผู้บริโภคต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ชี้ช่องในการปราบปรามอย่างเด็ดขาด” ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ กล่าว