สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเวทีใหญ่สัมมนา Year End ประจำปี แถลงบทสรุปภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2565 และแนวโน้มปี 2566“Go Together Better Thailand เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง” โดยมี ดร.เฉลิมชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง” และมอบโล่ให้แก่เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ดีเด่น ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาโดยสรุปว่า ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่า GDP ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.5 ของ GDP ทั้งประเทศ แต่ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น
โดยมีเนื้อที่ทางการเกษตร 149.25 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ และที่สำคัญ ภาคเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาทต่อปี และมีดุลการค้าเกินดุลเฉลี่ย8.6 แสนล้านบาทต่อปีนอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นทางรอด ช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทยในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่น ช่วยบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่ประเทศประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตร 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ตลาดนำการผลิต (2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 (3) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน (Safety-Security-Sustainability) หรือ 3’s (4) การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน และ (5) เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาให้เกษตรกรสามารถก้าวทันและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ
ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร เพื่อรองรับวิกฤตในอนาคตอย่างรอบด้าน ทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมด้านการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและทดแทนแรงงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง พัฒนาฐานข้อมูล Big Data เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าใช้ประโยชน์ข้อมูลในการวางแผนการผลิตและการตลาด เช่น Mobile Application (One App)
การสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้เข้าถึงที่ดินทำกินและแหล่งเงินทุน การประกันภัยพืชผลส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำสูงยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพแก่เกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร
“การขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ กุญแจสำคัญ คือ ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางแน่นอนว่า ประเทศไทยจะแข็งแกร่งไม่ได้ถ้าภาคเกษตรไม่เข้มแข็ง เพราะภาคเกษตร คือ รากฐานวิถีชีวิตของสังคมไทย และเกษตรกร เป็นอาชีพที่ผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร มีผลต่อระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้น มาร่วมมือกัน สร้างรากฐานภาคเกษตรไทยให้เข้มแข็ง เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งไปด้วยกัน” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายฉันทานท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า งานสัมมนาในวันนี้นอกจากมีการเสวนาในหัวข้อ “แรงบันดาลใจสู่เกษตรไทยเข้มแข็ง”มีผู้ร่วมการเสวนาประกอบด้วยนายสุพจน์ โคมณี เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ นางสาวนัยนา ยังเกิดบุคคลที่เปลี่ยนมาทำอาชีพเกษตร นายนิพนธ์ พิลาผู้ประกอบการ และนายสันติภาพ จุลิวัลลี ผู้สร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดโดยมีนายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นผู้ดำเนินการเสวนาแล้ว
สศก. อยากฝากประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ว่าขณะนี้ สศก. ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันในชื่อ “บอกต่อ” ซึ่งจะบอกให้เกษตรกรได้ทราบว่า จะสามารถขอรับปัจจัยการผลิตขอรับบริการตรวจและรับรองต่างๆ ได้ที่ไหน อย่างไรรวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ สถานการณ์การผลิต ราคาสินค้าเกษตร และสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ โดยจะพัฒนาแล้วเสร็จในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและภาคเกษตร
สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2564โดยสาขาพืช สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาประมงหดตัว ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุน คือ ปริมาณน้ำฝนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมากขึ้นเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมง รวมถึงสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและมีการบำรุงดูแลรักษามากขึ้น การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในด้านต่าง ๆ
อาทิ การส่งเสริมอาชีพเกษตรทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต การเฝ้าระวังโรคพืช และสัตว์ การบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน และบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้ต่อเนื่องและมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” ทำให้คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การเปิดประเทศ และเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวได้มากขึ้น
ส่วนปัจจัยลบ คือปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีรวมถึงอิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอกในช่วงไตรมาส 3 โดยเฉพาะ พายุ “โนรู” ที่พัดเข้าไทยโดยตรงในช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกือบทั้งประเทศ ขณะที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติสะสมอยู่มาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ
ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคสัตว์ ทำให้มีการชะลอการเลี้ยง ควบคุมปริมาณการผลิต นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการ Zero-COVID ของจีน และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย
เมื่อพิจารณาแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืชขยายตัวร้อยละ 2.1 เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช รวมถึงราคาสินค้าพืชหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกและเอาใจใส่ในการบำรุงดูแลผลผลิตพืชมากขึ้น แม้ว่าในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 บางพื้นที่ของประเทศจะได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและปัญหาน้ำท่วมทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหายแต่การผลิตพืชส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไย และทุเรียน ส่วนพืชที่ลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา มังคุด และเงาะ
สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 3.0 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่ลดลง ได้แก่ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ สำหรับสุกรมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ขณะที่เกษตรกรบางส่วนชะลอการเลี้ยงจากราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ไข่ไก่มีผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่
โดยมีการปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง และน้ำนมดิบมีผลผลิตลดลง เนื่องจากการระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนม ทำให้แม่โคผสมพันธุ์ติดยากและรีดนมได้ลดลง สินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ และโคเนื้อ โดยไก่เนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศและโคเนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการควบคุมและป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด รวมทั้งภาครัฐมีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
สาขาประมงหดตัวร้อยละ2.0 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการทำประมง โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลงอย่างมาก ขณะที่ปลานิลและปลาดุกมีผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเกษตรกรบางรายลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์ปลาเพื่อลดภาระต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้น ประกอบกับฝนตกชุกต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 และอิทธิพลของพายุโนรูในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในแหล่งเลี้ยงปลานิลและปลาดุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อย่างไรก็ตามกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แม้ว่าเกษตรกรบางส่วนยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้ง เช่น โรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.7เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และราคาอ้อยโรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดีทำให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นมาปลูกอ้อยโรงงานมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น
สาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 2.0เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ ครั่ง และรังนกเพิ่มขึ้นโดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิตเยื่อกระดาษ การก่อสร้าง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ภายในประเทศของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารครั่งเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศ และมีความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ เป็นต้น และรังนกมีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการทำเกษตรการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐด้านการเกษตรในทุกมิติอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ราคาปัจจัยการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย สารเคมีกำจัดโรคและแมลง และวัตถุดิบอาหารสัตว์
การระบาดของโรคพืชและสัตว์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้งซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก