สศก.คาด GDP เกษตร ปี 65 โต 2.0 – 3.0 % ห่วงโควิดรุนแรง-บาทแข็งฉุด

23 ธ.ค. 2564 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 11:39 น.

สศก. แถลง จีดีพีเกษตรปี 65 โต 2.0 – 3.0 % ห่วงโควิด “ไอมิครอน” รุนแรง ระบาดใหม่ บาทแข็งฉุด แนะทางรอดเกษตรกรไทย ใช้หลักการตลาดนำการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร

วันที่ 23 ธันวาคม 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดงานสัมมนา ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ซึ่งภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “Booster เกษตรไทย สู่ เกษตรมูลค่าสูง” และการรายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตลอดปี 2564 และแนวโน้มในปี 2565 ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  รวมทั้งถ่ายทอดผ่านระบบ ZOOM และ FB Live เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชน

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

 

ในการนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาผ่านวีดิทัศน์ ว่า ภาคเกษตรถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นรากฐานด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศและของโลก รวมทั้งช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทยในวิกฤตต่าง ๆ จนถึงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

 

ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรให้เติบโต และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีเป้าหมายสำคัญให้ GDP ภาคเกษตร และผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด

 

สำหรับ ด้านการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตให้เกิดความยั่งยืน ลดต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนากระบวนการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐาน ส่งเสริมสินค้ามูลค่าสูงเช่น สมุนไพร และสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ ด้านการแปรรูป ผลักดันให้มีการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร โดยมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และ ด้านการตลาด พัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างเรื่องราว (Story Telling) และจุดเด่นให้กับตราสินค้า (Branding) และยกระดับระบบโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ผู้บริโภค

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

 

ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้รายงานถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร  ปี 2564 ซึ่งพบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช และประมง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและบำรุงรักษาที่ดี

 

 รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ การขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การส่งเสริมอาชีพเกษตร การพักชำระหนี้ และการประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของ โควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน

 

หากพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ในปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564 มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงการปลูกทดแทนพืชชนิดอื่น อาทิ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในบางพื้นที่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 2 รอบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาที่ดี ควบคุมและกำจัดหนอนกระทู้ได้ดีขึ้น

 

 

GDP เกษตร ปี 64 แนวโน้ม ปี 65

ประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่ม  มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโรงงาน ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่และทำการเพาะปลูกได้ต่อเนื่อง อ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากขึ้น ทำให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน

 

ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอน จึงไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยมากนัก สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ถึงปี 2563 เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ปล่อยว่าง รวมทั้งปลูกแซมในสวนยางพาราและสวนมะพร้าวที่ปลูกใหม่ ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี

 

ประกอบกับต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง อีกทั้งภาครัฐยังมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง จึงจูงใจให้เกษตรกรบำรุงดูแลมากขึ้นและเพิ่มจำนวนวันกรีด ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ประกอบกับในปี 2564 มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2564 มีทะลายสมบูรณ์ดี

 

ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2561 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทำให้ต้นลำไยออกดอกติดผลได้มากกว่าปีที่ผ่านมา ทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2559 ทดแทนยางพารา กาแฟ เงาะ มังคุด และลองกอง โดยสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล และ เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทำให้ต้นสมบูรณ์ ออกดอกและติดผลได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

 

สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 2.4  โดยผลผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญลดลง ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ผลผลิตไก่เนื้อลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลผลิตสุกรลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับลดปริมาณการเลี้ยงสุกรจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้าน และผลผลิตไข่ไก่ลดลงจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่

 

ปศุสัตว์

 

โดยมีการปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ภายในประเทศลดลงไปด้วย ขณะที่ผลผลิตโคเนื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อของรัฐบาลที่มีอย่างต่อเนื่อง และ ผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาคุณภาพน้ำนมโค ส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น

 

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 3.0 เป็นผลจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง เนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวน ชาวประมงนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำได้ลดลง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาไม่จูงใจ ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง ประกอบกับบางพื้นที่มีการระบาดของโรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว หัวเหลือง

 

ในด้านประมงน้ำจืด ปลานิลมีผลผลิตลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ส่งผลให้ปลานิลบางส่วนน็อคน้ำตาย ส่วนปลาดุกมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา และไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม อีกทั้งเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง เพื่อเพิ่มอัตราการรอด

 

ภาคประมง

 

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.7 เนื่องจากมีการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การบำรุงดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่เพาะปลูกพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน และพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน

 

 

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.5 เนื่องจากผลผลิตของไม้ยูคาลิปตัส รังนก และถ่านไม้เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ยังมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood Pellet) โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ด้านรังนกของไทยยังมีคุณภาพและมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตลาดสิงคโปร์และจีน และถ่านไม้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์  สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกสาขา จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง

 

ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการวางแผนการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยใช้หลัก "การตลาดนำการผลิต" ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรของไทย

 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็น ภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่อาจเกิดการระบาดในระลอกใหม่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตรไทย และราคาน้ำมันดิบที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นไปด้วย