สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาพรวมของโลกในปี 2565 ที่เริ่มคลี่คลาย เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการเปิดประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจ และการค้าโลกกลับมาฟื้นตัว ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารของไทยขยายตัวตามไปด้วย ซึ่งสรุปภาพรวมปี 2565 เป็นอย่างไร และทิศทางปี 2566 มีโอกาสแค่ไหน “นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ดังนี้
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวว่า การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ข้อมูลล่าสุดช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่ารวม 274,822 ล้านบาท คาดทั้งปีจะส่งออกได้มูลค่า 280,326 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.60% ปริมาณส่งออกกว่า 2.42 ล้านตัน และสัตว์มีชีวิต 24 ล้านตัว/ฟอง (กราฟิกประกอบ)
เนื้อสัตว์-อาหารสัตว์เลี้ยงเด่น
ทั้งนี้แบ่งเป็นการส่งออกเนื้อสัตว์ แช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ส่งออกมูลค่า 1.12 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26%, สินค้าที่มาจากสัตว์หรือไม่ได้มาจากสัตว์ (Non-frozen) เพิ่มขึ้นจาก 23,135 ล้านบาท เป็น 25,650 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11%, อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) เพิ่มขึ้นจาก 70,991 ล้านบาท เป็น 90,228 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27%,
อาหารปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นจาก 10,471 ล้านบาท เป็น 11,641 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% , สัตว์มีชีวิต (ไก่ / หมู) ลดลงเหลือ 5,147 ล้านบาท จากปีที่แล้วส่งออก 13,345 ล้านบาท หรือลดลง 62% และซากสัตว์ (non-edible) จากปีก่อนส่งออก 3,638 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5,504 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 51% โดยในปี 2565 ถือเป็นปีทองภาคปศุสัตว์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เล็งปี 66 โต 3 แสนล้าน
ขณะที่ในปี 2566 การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ คาดจะส่งออกได้แตะ 3 แสนล้านบาท โดยมีสินค้าดาวเด่นคือ เนื้อไก่ ที่สอดรับกับปริมาณความต้องการบริโภคของตลาด โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการขึ้นทะเบียนโรงงานเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น
รวมถึงอานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ยูเครนไม่สามารถส่งออกเนื้อไก่และข้าวสาลีได้ ทำให้ราคาเนื้อไก่ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับประเทศจีนได้ยกเลิกการแบนชั่วคราวโรงงานไก่ไทย 9 แห่งที่มีสัดส่วนส่งออก 32.5% ของการผลิตรวม ทำให้ปี 2566 คาดการณ์การผลิต และปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยมูลค่าส่งออกอาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากราคาตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง
ดาวเด่นรองลงมาคือ อาหารสัตว์เลี้ยง มีโอกาสเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายโอกาสทั้งในประเทศและตลาดโลก เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีคุณภาพมาตรฐาน ตอบโจทย์ตลาดผู้เลี้ยงสัตว์ที่ให้ความนิยมเลือกอาหารที่มีคุณภาพให้กับสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมนี และสหรัฐฯ
436 โรงงานผ่านรับรอง
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยอาหารด้านสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่า โรงแปรรูป สถานที่จำหน่าย ให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับและมีกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ได้กำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐานระบบ GMP และระบบ HACCP ในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันทางกรมฯได้ขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานอาหารคนเพื่อการส่งออกแล้ว 343 แห่ง โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อการส่งออกแล้ว 93 แห่ง และได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการของตลาดนำเข้าหลักทั่วโลกที่จะมีการกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยยกระดับมาตรฐานด้านกระบวนผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green livestock Production) รวมถึงมีความสอดคล้องกับตามระเบียบและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและหลักสากล ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาหารของโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยอีกมากในอนาคต
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,849 วันที่ 1-4 มกราคม พ.ศ. 2566