ซีพีเอฟ กางโรดแมป Net Zero ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ปี 2030

18 ม.ค. 2566 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2566 | 19:35 น.

ซีพีเอฟ กางโรดแมปขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero 2050 เผยปี 2022 ธุรกิจในไทยสามารถยกเลิกการใช้ถ่ายหินได้แล้ว 100% ตามเป้าหมาย Coal Free 2022 เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50 % ภายในปี 2030 และ เพิ่มเป็น100 % ในปี 2050

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า การขับเคลื่อนองค์กรสู่ Net Zero เป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนของ CPF ที่ยึดตามแนวทางด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

บริษัทฯ กำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผลิตอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้น อร่อยมากขึ้น และมีความหลากหลายมากขึ้น ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งบิซิเนสโมเดลของซีพีเอฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งในราคาที่เหมาะสม (Cost Control) มีความปลอดภัย (Food Safety) และมีความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) 
 

นอกจากนี้ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงภารกิจของการเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ที่มุ่งมั่นดูแลการผลิตอาหารให้เพียงพอรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤต พร้อมทั้งมีส่วนร่วมสนับสนุนเป้าหมายของโลกในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)โดยได้ประกาศเป้าหมายสู่ Net-Zero ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในไทย ตามเป้าหมาย Coal Free 2022 ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 

 

ในปี 2566 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของซีพีเอฟ กับการตั้งเป้าหันมาใช้พลังงานจากชีวมวลทดแทน สอดคล้องกับหลักการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ตามแนวทางที่ประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯอยู่ที่ประมาณ 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ถือเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 6 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า     
 

พร้อมกันนี้ ภายใต้ความมุ่งมั่นสู่ Net Zero ซีพีเอฟนำนวัตกรรม เทคโนโลยี  AI IoT และระบบอัตโนมัติ มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามแนวทาง 3 Smart  หนุนกระบวนการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ (Smart Sourcing) กระบวนการผลิต (Smart Production) และการบริโภค (Smart Consumption) 

  • Smart Sourcing การจัดหาวัตถุดิบ ยกระดับมาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่สำคัญ รวมถึง ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า   
  • Smart Production กระบวนการผลิต การใช้พลังงานชีวมวลเพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน และการจัดการมูลสัตว์และน้ำเสียมาใช้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) ด้วยระบบก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ในการบำบัดมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่  และนำก๊าซมีเทนที่ได้จากก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้ในฟาร์ม  ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าในฟาร์มได้ถึง 50-70 %    
  • Smart Consumption การบริโภค บริษัทฯ มีการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์อาหาร และการให้ความสำคัญในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ

ด้านนายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า  ความสำเร็จในการยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯอยู่ที่ประมาณ 30 % ของการใช้พลังงานทั้งหมด นับเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด

 

ประกอบด้วย พลังงานจากก๊าซชีวภาพ 30 % พลังงานชีวมวล 68% และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในอนาคต ซีพีเอฟมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50 % ภายในปี  2030 และ เพิ่มเป็น100 % ในปี 2050  

 

นอกจากนี้ การบรรลุเป้าหมายในการยกเลิกการใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในประเทศไทย  จะเป็นต้นแบบให้กับกิจการในต่างประเทศด้วย  

นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ซีพีเอฟ


     
นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลทางอ้อมจากการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ ซีพีเอฟดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ภายใต้แนวคิด "ความมั่นคงทางอาหาร จากภูผาสู่ป่าชายเลน"ได้แก่ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี” ซึ่งนอกจากจะช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นโครงการที่ดูแลคุณภาพของน้ำและชุมชน

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" โดยต่อยอดสู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีชุมชน ช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 โครงการฯ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไปแล้ว รวม 14,000 ไร่ และมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 20,000 ไร่ ในปี 2030 พร้อมกันนี้ ยังพัฒนาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ พร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มเติม

 

ล่าสุด ซีพีเอฟยังร่วม "โครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.) ในโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) สนับสนุนต้นไม้ 1 หมื่นต้น และตั้งเป้าสนับสนุนเพิ่มเป็น 1 แสนต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่น