ครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการปาล์มน้ำมัน ต้นเดือนมกราคม ปี 2566 หลังจากกลับมาจากเทศกาลปีใหม่ ใครจะไปรู้ว่าอีกไม่กี่วัน ชาวสวนปาล์มจะต้องพบกับฝันร้าย จู่ “โรงสกัด-ลานเท” พร้อมใจกันหยุดโดยมิได้นัดหมาย ทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มไม่มีที่ขาย ส่วนที่เปิดก็ไม่เพียงพอ จนทำให้คิวยาวเป็นหางว่าว
สวนทางผลผลิตก็น้อย ปัจจัยโลกก็เป็นบวก ในแง่ผู้ผลิตรายใหญ่ อินโดนีเซีย เพิ่มผสมไบโอดีเซลเป็นบี35 ยังควงคู่กับมาเลเซีย ตอบโต้อียู งดส่งออกน้ำมันปาล์ม ในกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลดการทำลายป่าไม้และส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products) อีกด้วย ปรากฏการณ์นี้ทำให้คนงง ทั้งประเทศเกิดอะไรขึ้น?
วันนี้ (วันที่ 23 ม.ค.66) นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบและประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี ในโอกาสลงพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงหลังปีใหม่ ได้ทราบข่าวโรงงานสกัด –ลานเท ไม่รับซื้อ ให้รถเข้าคิวรอ 2-3 วัน ก็เข้ามาดูว่าเกิดอะไรขึ้น
“พอมาดูแล้วปัญหาจริงทำไมถึงไม่รับซื้อ เป็นช่วงเวลาที่ปิดเทศกาลปีใหม่ 3 วัน วันนี้ที่ลงไปไม่มีภาพรถจอดรอคิวส่งปาล์มแล้ว ก็ได้สอบถามทางโรงงาน เทรดเดอร์ ลานเท ไปดูครบวงจร จากนั้นก็มาประชุมที่จังหวัดได้เห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้น”
จากปีที่ผ่านมาฝนดีมาก ฝนตกชุก จากปกติเดือนมกราคม ถึงปลายธันวาคม ผลผลิตไม่ค่อยมี โรงงานก็จะปิดเทศกาลปีใหม่และบางโรงก็จะมีการซ่อมบำรุง ประกอบด้วยราคาดี จึงใส่ปุ๋ยกันใหญ่ต้นปี ก็ส่งผลปลายปีทำให้ปาล์มออกมามาก จากปกติเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยออกกลายเป็นมาออกเยอะ พอปิด 3 วันผลผลิตก็ทะลักออกมาไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน
“ผิดปกติ จากราคาปาล์มดี ตอนนี้ปัญหาคือปลูกกันมากมายเกิดปัญหากล้าปาล์มเถื่อน ขโมยตัดปาล์ม ซึ่ง กมธ.ก็ต้องแก้ปัญหาไปเป็นเรื่องๆ สำหรับวันนี้ที่มาก็ลงมาดูต้นเหตุที่แท้จริง เพราะเกษตรกรก็อยากได้เงินช่วงปีใหม่ใช้ ก็ไปตัดปาล์มที่ไม่มีคุณภาพ โรงงานก็ไม่อยากรับซื้อ วันนี้ก็มาเห็นโรงงานก็คัดทิ้ง เอาของไม่ดีคุณภาพต่ำมา”
นายวีระกร กล่าวว่า ในช่วงเช้าไปเยี่ยมลานเทขนาดเล็ก เป็นพวกลานเทเกิดใหม่ ไม่มีลูกค้าขาประจำ ซื้อแบบไม่มีคุณภาพก็ซื้อ หากไม่ซื้อก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยต้องซื้อ เพื่อดำเนินธุรกิจได้ ทาง กมธ.ก็ถามว่าในเมื่อรู้ว่าว่าผลปาล์มไม่มีคุณภาพทำไมถึงยังซื้อ ลานเทก็ตอบว่า ไม่ได้ซื้อเยอะ เป็นลานเล็ก มีตาชั่ง ก็ซื้อขายแล้ว ซึ่งเราก็บังคับไม่ให้ซื้อขายไม่ได้ เป็นสิทธิ์ของลานเท”
จากนั้นก็ไปลานเทขนาดใหญ่ มีการดำเนินธุรกิจ 17 ปี มีลูกค้าขาประจำ 700 ราย ทุกรายจะมีการดูแล ทั้งการให้ปุ๋ย ตัดหญ้าให้ ออกเงินให้ทั้งหมดก่อน แล้วค่อยหักค่าใช้จ่ายจากการขายผลปาล์ม เหมือนเป็นเจ้าของ มีความเป็นธรรมชาติ รับจ้างทำสวน เมื่อเปรียบเทียบกับ ลานเทที่ไปดูก่อนหน้านี้จะเห็นความแตกต่าง นี่ลานเทมืออาชีพที่เปิดมานานแล้ว ซื้อแต่ปาล์มคุณภาพ เนื่องจากดูแลเองด้วย ปาล์มที่ซื้อเองเป็นปาล์มที่ 18% ขึ้น ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นจากพวกลานเทเกิดใหม่ มือใหม่ ต้องรับซื้อผลปาล์มที่ไม่มีคุณภาพ
“เมื่อผลปาล์มไม่มีคุณภาพก็ทำให้โรงงานไม่อยากรับซื้อ ก็คัดจากปาล์มที่มีคุณภาพเข้าโรงงาน แต่ถ้าเป็นปาล์มสดเกษตรกรรายย่อยก็แซงคิวให้เข้าก่อนเลย เพราะตัดปาล์มเอง จะมีแต่ปาล์มคุณภาพเท่านั้น แล้วถ้าไม่มีคุณภาพเกษตรกรก็ไม่นำออกมาขาย มองว่าเป็นปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว”ไม่ได้เป็นปัญหาหลัก”
นายวีระกร กล่าวว่า ปัญหาหลักจะทำอย่างไร ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมามีการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มใหญ่ จากผลราคาปาล์มน้ำมันดี ทำให้เกษตรกรปลูกปาล์มทุกพื้นและที่สำคัญปาล์มไม่ได้คุณภาพ เอาปาล์มที่หล่นใต้ต้นมาเพาะขายกัน รวมทั้งขโมยโจรเยอะขึ้น (คลิกอ่าน) ดังนั้น กมธ.จึงขอร้องให้ผู้ว่าราชจังหวัดและตำรวจ ร่วมกัน วันนี้รายงานให้ทราบ ว่าพื้นที่ชัยบุรี ในจังหวัดสุราษฎร์ฯจับได้ 17 ราย ถ้าจับจริงจังเชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
“ดังนั้น กมธ.ชุดนี้ไม่ใช่แค่ศึกษาปัญหา แต่เป็นกมธ.ช่วยแก้ปัญหาไปในตัวทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความไม่ชอบมาพากล กมธ.ชุดนี้จะลงไปเหลือช่วยทันที หากจำกันได้ ตอนที่ตั้งคณะกมธ.แรกๆ ได้ไปเจรจากับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ปรับเพิ่มเป็น บี 10 ก็ทำให้ราคาผลปาล์มขยับขึ้น ไล่จับพวกลักลอบนำเข้ารายใหญ่ ก็ส่งผลทำให้ราคาปาล์มขึ้นตลอด นี่เป็นผลงาน กมธ. ยังคงทำหน้าที่ไปจนกว่ารัฐบาลจะหมดวาระ”
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกระบี่ วันนี้ ราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันปรับขึ้นบวก ณ โรงสกัดน้ำมันปาล์มจังหวัดกระบี่ ประจำวันที่ 23 มกราคม 2566
เช่นเดียวกับราคาผลปาล์ม ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี สอดคล้องกับ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงาน