นายประมุข เจิดพงศาธร ประธานบริษัท PJUS GROUP,USA ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าไทยป้อนให้กับตัวแทนจำหน่าย และเจ้าของห้างสรรสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐอเมริกา และในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (HTA) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่ตนมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของและผู้บริหารห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายสิบรายในสหรัฐฯมานับสิบปี ทำให้มีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายหลายหมื่นสาขาในสหรัฐฯ
ล่าสุดในการเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อพบปะกับคู่ค้าในไทยเพื่อจัดหาสินค้าเพิ่มเติม ในการมาครั้งนี้มีแผนจะนำคู่ค้าจากสหรัฐฯ เข้าหารือกับนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ กำหนดไว้ในเบื้องต้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหารือในการโปรโมทสินค้าข้าวหอมมะลิของไทย ที่มีตราเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hom Mali Rice)จากกรมการค้าต่างประเทศที่ถุงบรรจุ ผ่านเครือข่ายห้างสรรพสินค้าพันธมิตรของบริษัท
“ก่อนที่ผมจะกลับมาประเทศไทยในฐานะที่เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเชิญท่าน ผอ.ไทยเทรด(ทูตพาณิชย์) พบปะกับคู่ค้าของผม ทำให้มีโอกาสได้เรียนท่านว่า ผมทำอะไรอยู่ และมีคอนเน็กชั่นที่ไหนบ้าง สามารถที่จะทำบิซิเนสโปรโมชั่น หรือการทำโปรโมทสินค้าไทยได้อย่างไรบ้าง”
ทั้งนี้ จากที่ทางกรมฯมีโครงการจะ โปรโมทข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯ จึงได้ติดต่อทาบทามไปยังเจ้าของและผู้บริหารห้างต่าง ๆ ที่รู้จักและเป็นคู่ค้ากันมานานนับสิบปี และได้เสนอโครงการว่าจะทำโปรโมทข้าวหอมมะลิของไทยในห้างต่าง ๆ ของพันธมิตรทางการค้าในหลายมลรัฐ และในหลายหัวเมือง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากคู่ค้าเป็นอย่างดี ซึ่งจะได้หารือในรายละเอียดกับทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในครั้งนี้ต่อไป
ในเบื้องต้น เป้าหมายการโปรโมทข้าวหอมมะลิที่มีตราเครื่องหมายรับรอง Thai Hom Mali Rice ในครั้งนี้ จะมีที่เท็กซัส ซาคราเมนโต(อยู่ในแคลิฟอร์เนีย) ลอสแอนเจลิส(แอลเอ) ลาสเวกัส เป็นต้น และอาจถือโอกาสคราวเดียวกันในการโปรโมทสินค้าไทยชนิดอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น น้ำมะพร้าว สับปะรดกระป๋อง สแน็ค หรือของขบเคี้ยว อาหารอบแห้ง รวมถึงไอศกรีมที่เพิ่งได้รับมอบหมายมาล่าสุด
นายประมุข กล่าวอีกว่า ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นภารกิจเพื่อประเทศชาติ ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์(HTA) ของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะใช้สายสัมพันธ์กับซีอีโอของห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯที่มีมาหลายสิบปีในการโปรโมทสินค้าไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะแต่ละห้างฯลงทุนมหาศาล หากไม่มีคอนเน็กชั่นจะเข้าไปยาก
สำหรับการโปรโมทข้าวหอมมะลิไทยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลให้ข้าวสาลีที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารคน และอาหารสัตว์ขาดแคลนและราคาขึ้นไปสูงมาก ขณะที่ข้าวที่ปลูกในสหรัฐฯที่เป็นข้าวขาว ส่วนใหญ่จะปลูกในแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส ขึ้นไปถึงอาร์คันซอ ได้หันไปปลูกข้าวสาลีกันจำนวนมาก ส่งผลให้ข้าวขาวที่ปลูกในสหรัฐฯมีปริมาณลดลง และราคาแพง ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งข้าวหอมมะลิ และข้าวขาวไปขายในสหรัฐฯ จากค่าขนส่งทางเรือจากไทยไปสหรัฐฯเวลานี้ยังถูกกว่าข้าวที่ปลูกสหรัฐฯที่ส่งมาจากเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐฯทางบก
“เวลานี้ค่าระวางเรือจากไทยไปแอลเอจากเคยขึ้นไปสูงถึง 1.5-2 หมื่นดอลลาร์ต่อตู้ช่วงที่เกิดโควิด ตอนนี้ลงมาเหลือ 1,200 ดอลลาร์เหมือนเดิมแล้ว เราก็ต้องพยายาม จุดได้เปรียบคือเรามีคอนเน็กชั่นมาแต่เดิม ตรงนี้ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถโปรโมทข้าวไทยเพื่อขยายตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าฮิสแปนิกที่มีจำนวนมากในสหรัฐฯ และนิยมบริโภคข้าว
โดยจะโปรโมทมีการหุงข้าวให้ชิม เพื่อให้เขาได้รับรู้ถึงความนุ่ม ความหอม และรสสัมผัสที่ดีกว่า นอกจากนี้มีโครงการที่จะสนับสนุนด้วยตัวผมเอง เช่น ด้วยการชิงโชคแจกทองซึ่งก็ได้คุยเล่น ๆ กับพวกเจ้าของไดเร็กเตอร์ห้างฯ ว่าสิ่งที่เราจะทำเป็นของดีจริง ผมพูดเสมอว่าการบรรจุสินค้าเข้าห้างยากมาก แต่การที่จะให้สินค้าอยู่ในห้างตลอดไป ถ้าสินค้าเราสามารถพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ว่าดีจริง อันนั้นจะอยู่คงทนถาวร ผมเรียนไว้อย่างนี้เลย ไม่ใช่ข้าวหอมกัมพูชาที่ 1 ผมไม่เชื่อ ยังไงข้าวไทยต้องที่ 1”นายประมุข กล่าวย้ำ