วันนี้ (27 มกราคม 2566) เพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ณ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ผ่านระบบ VTC เพื่อกำหนดแนวทางการทำประมงพื้นบ้านและการนำเรือประมงออกนอกระบบโดยที่ประชุมรับทราบ ความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรป ( DG-MARE) ถึงความพยายามของไทย ต่อพัฒนาการติดตาม เฝ้าระวังและควบคุมการทำประมงภาพรวม
โดยขอให้เพิ่มการตรวจสอบดำเนินคดีอย่างเต็มประสิทธิภาพตามขั้นตอนกฎหมายกับเรือที่มีข้อมูลจากศูนย์ FMC เรือเข้าออกท่าที่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผิดกฎหมาย เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารหรือส่งออกต่างประเทศ และรับทราบการขยายเวลายกเว้นบังคับใช้กฎหมาย MMPA ของสหรัฐฯ ออกไปอีก 1 ปี จนถึง 31 ธันวาคม 2566 พร้อมทั้งรับทราบความก้าวหน้า นโยบายและแผนบริหารจัดการประมง และแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ปี 2566 – 2570
รวมทั้งผลการประเมินประเทศไทย ต่อสถานการณ์การขจัดแรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดของสหรัฐฯ ปี 2564 โดยเสนอให้ความสำคัญกับ การควบคุมบังคับใช้อายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงานให้ครอบคลุมการจ้างแรงงานนอกระบบ การกำหนดอาชีพและกิจกรรมเสี่ยงที่อันตรายต่อเด็กให้ครอบคลุมมากขึ้น และการเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพผู้ตรวจแรงงานนอกระบบในพื้นที่ห่างไกล
ต่อจากนั้นได้ร่วมพิจารณา แนวทางการออกใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้าน ที่ให้ความสำคัญกับ เกณฑ์การออกใบอนุญาต พื้นที่ทำการประมง กลุ่มสัตว์น้ำ เครื่องมือประมง และขาดเรือประมง โดย พล.อ.ประวิตร’ ได้มอบให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ไปหารือกับประมงพื้นบ้าน เพื่อความรอบคอบก่อน พร้อมกันนี้ ได้พิจารณาและเห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ สำหรับกลุ่มเรือที่ประสงค์จะออกนอกระบบเพิ่มเติม จำนวน 1,007 ลำ วงเงินช่วยเหลือเยียวยา 1,806.3349 ล้านบาท และเรือประมงออกนอกระบบในพื้นที่ จชต.เป็นกรณีเร่งด่วน โดยมีกลุ่มเรือที่ประเมินสภาพแล้ว 96 ลำ วงเงิน163.3634 ล้านบาท
รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า กรมประมงต้องเข้มแข็งบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังมากขึ้น และจำเป็นต้องโปร่งใส ไม่มีทุจริตเอื้อประโยชน์กับกลุ่มใดทั้งสิ้น โดยให้นำข้อเสนอขององค์กรระหว่างประเทศไปปรับแก้ไขให้มีผลเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของสากล และขอให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนนโยบายประมง ที่ยืนบนหลักกฎหมาย โดยคำนึงความอยู่รอดของชาวประมงพื้นบ้านและผลประโยชน์ของทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืนร่วมกันเป็นสำคัญ
แหล่งข่าว เผยว่า เพื่อเป็นการบริหารจัดการการทำประมงพื้นบ้าน เห็นคณะฯ ได้เห็นชอบการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน จำนวนเครื่องมือประมงต่อเรือ 1 ลำ สามารถขอได้ไม่เกิน 3 เครื่องมือ (ไม่รวมเบ็ดทุกชนิด) ส่วนอวนครอบ อวนช้อนหรืออวนยกปลากระตัก และเครื่องมือ 1 ชนิด ได้จากเครื่องมือ ประกอบด้วย อวนครอบหมึก อวนติดตา ลอบหมึก ลอบปู เบ็ดราว เป็นต้น
ส่วนอวนครอบ อวนช้อนหรืออวนยกปลากระตัก ต้องมีขนาดตั้งแต่ 3 ตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ตันกรอส