กฎหมายประมงพ่นพิษ ลามรัฐบาลมาเลย์สั่งห้ามเรือเข้าเทียบท่าไทย ผวาทำผิดโทษหนัก ฟาดหางอู่ซ่อมเรือสูญรายได้ ร้อง “ประยุทธ์” ช่วยนาน 3 เดือนยังเคว้ง ด้านประมงพาณิชย์กว่า 900 ลำลุ้น ก.เกษตรฯ ครม.ขอ 2 พันล้านซื้อเรือคืนสัปดาห์หน้า
นางสาวดวงใจ แซ่หลี
ผู้จัดการทั่วไปอู่เรือ ป.อุดมทรัพย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปกติที่ผ่านมาจะมีเรือประมงต่างชาติ เช่น เรือประมงมาเลเซียเข้ามาซ่อมแซมเรือในไทย เช่น ทาสีใหม่ ทำใบจักร เป็นต้น ทั้งนี้เจ้า ของเรือยอมรับในฝีมือช่างของไทย อย่างไรก็ดีผลพวงจากที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 รวมถึงกฎกระทรวงที่เกี่ยวเนื่องที่มีความเข้มงวดสำหรับท่าจอดเรือประมง หากทำผิดมีโทษรุนแรง ทั้งจำทั้งปรับ
ผลพวงดังกล่าวล่าสุดมีผลให้ทางการของมาเลเซียได้ออกประกาศห้ามเรือประมง
ของมาเลเซียเข้ามาจอดเทียบท่าในไทย และได้ยกเลิกการออกเอกสาร LOV (Vessel Operation Report) ซึ่งใช้เป็นเอกสารการค้าระหว่างประเทศที่สามารถนำมาสำแดง ณ ท่าเรือปลายทางเพื่อเข้าท่าเทียบเรือได้ แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถขออนุญาตได้เป็นกรณีพิเศษโดยจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงของมาเลเซียคนเดียวเท่านั้นทำให้เกิดความยุ่งยาก
“ผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ทำให้กิจการซ่อมเรือประมงตามแนวชายแดนขาดรายได้ เช่นจากเดิมมีเรือเข้ามาซ่อมแซม
เฉลี่ยเดือนละ 40-50 ลำ รายได้ต่อลำทั้งเรือขนาดใหญ่ และเล็กเฉลี่ย 1.2-4 หมื่นบาท รวมหลักหลายแสนบาทต่อเดือนต้องหายไป ขณะที่การซ่อมเรือไทยอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เมื่อไม่มีเรือมาซ่อมลูกจ้างอู่ซ่อมเรือก็ว่างงานจำนวนมาก จึงขอให้ภาครัฐช่วยเจรจากับทางการมาเลเซียเพื่อให้เรือกลุ่มนี้ซึ่งไม่เกี่ยวกับการนำสัตว์นํ้าผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศได้เข้ามาซ่อมแซมเรือ เรื่องนี้บริษัทได้ส่งหนังสือไปยังรัฐบาลเกือบ 3 เดือนแล้ว แต่ยังไร้วี่แววในการช่วยเหลือ”
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงความคืบหน้าหลังจากที่เจ้าพนักงานได้เร่งจัดทำเครื่อง หมายอัตลักษณ์ประจำเรือประมงมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา พบมีเรือ 3 กลุ่ม ที่มีเครื่องมือประสิทธิภาพสูง ได้แก่ อวนลาก อวนล้อม และเครื่องมือจับปลากะตัก คือ อวนล้อมจับปลากะตัก และอวนช้อน ครอบ ยกปลากะตัก โดย กลุ่มที่ 1. เรือที่มีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้นไม่เกิน 10% จำนวน 7,807 ลำ กลุ่มที่ 2 คือ เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกิน 10% จากทะเบียนเรือ จำนวน 848 ลำ โดยเรือ 2 กลุ่มนี้สามารถซื้อควบรวมใบอนุญาตทำการประมงได้สูงสุด 291 วัน/ปี ส่วนเรือกลุ่มที่ 3 ที่เรียกว่า กลุ่มขาว-แดง เป็นเรือที่ถูกตรึงพังงา (พวงมาลัยเรือ) กับกรมเจ้าท่า จำนวน
900 ลำต้องออกจากระบบ (จากทั้งหมด 949 ลำ แต่ 49 ลำขายไปแล้ว) เรือกลุ่มนี้ผู้ประกอบการใช้วิธีแลกเปลี่ยน เพราะเห็นว่าเรือประมงที่ถูกตรึงพังงา บางลำมีสภาพดีเหมาะแก่การนำมาใช้งาน ขณะที่เรือประมงบางลำปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม ซึ่งการแลกเปลี่ยนจะต้องเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้
“อย่างที่เป็นข่าวเรือราคาสูงมาก ผู้ประกอบการไม่มีเงินซื้อ ทำให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เตรียมขอเงินจากรัฐบาล 2,000 ล้านบาทเพื่อซื้อเรือจำนวนดังกล่าวไปทำประโยชน์ด้านอื่น คาดจะนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม.พิจารณาอนุมัติในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้”
ด้านนายพงศธร ชัยวัฒน์ ผู้ประกอบการเรือกลุ่มขาว-แดง เผยว่า เรือกลุ่มนี้จะถูกรัฐบาลรับซื้อคืน ในราคา 25% ของราคาประเมิน ไม่คิดค่าเครื่องยนต์และอุปกรณ์อื่นๆ เรื่องนี้ภาวนาอย่าให้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเกษตรฯ เพราะเกรงเรื่องจะกลับไปเริ่มต้นใหม่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560