นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ฉายภาพอุตสาหกรรมผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” โดยยอมรับว่า มีปัญหาที่หนักหน่วงขึ้นทุกวัน ที่สำคัญเป็นห่วงผู้บริโภคที่ใช้ท่อเหล็กไม่ได้มาตรฐานที่กำลังระบาดหนัก
นายกวินพัฒน์ กล่าวว่า ล่าสุดกลุ่มท่อเหล็กต้องเผชิญกับปัญหาการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องจากประเทศจีน โดยข้อมูลในปี 2564 มีการนำเข้า 45,877 ตัน ส่วนปี 2565 มีการนำเข้าเพิ่มเป็น 48,250 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,754 ล้านบาท และยังพบว่าปี 2565 ไทยมีการนำเข้าท่อโลหะจากกัมพูชาสูงถึง 11,609 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 578 ล้านบาท
สาเหตุการนำเข้าที่สูงขึ้นเกิดจากปี 2564 สายเดินเรือทั่วโลกมีปัญหาด้านตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่เพียงพอส่งผลให้ต้นทุนในการส่งออกสูงขึ้น 80-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน มาในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลงค่าใช้จ่ายของตู้คอนเทนเนอร์กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้มีการนำเข้าสินค้าท่อเหล็กเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งท่อเหล็กที่นำเข้ามาโดยเฉพาะกลุ่มท่อผิวเคลือบ ( Pre-zinc ) มีการเคลือบที่ตํ่ากว่า 60 g/m2 หมายความว่าคุณภาพในการใช้งานจะลดลงและจะเกิดสนิมเร็วขึ้น เทียบกับท่อ Pre-zinc ที่ผลิตจากเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนของผู้ผลิตในประเทศจะมีการเคลือบขั้นตํ่าที่ 60g/m2 อายุการใช้งานจะยาวนานกว่า
ปัจจุบันทางสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะฯได้รับข้อมูลว่า เริ่มมีการนำท่อเหล็กกลมไปใช้เป็นท่อประปา ซึ่งทางสมาคมไม่สนับสนุนการใช้งานดังกล่าว เนื่องจากท่อประปาเป็นงานระบบที่มีมาตรฐานบังคับ มอก. 276-2562 ซึ่งต้องใช้ท่อเหล็กกล้าชนิดทนความดันที่มีการเคลือบมวลสังกะสีไม่น้อยกว่า 450g/m2 ในการผลิต ซึ่งทางสมาคมฯได้รับข้อมูลว่าท่อเหล็กกลมที่เอาไปใช้ในงานประปามีการนำท่อ Pre-zinc ที่มีมวลผิวเคลือบสังกะสีเพียงแค่ 60-80g/m2 ส่งผลให้การใช้งานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และเกิดปัญหากับผู้บริโภค ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก
ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่ามีการนำเข้าท่อเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีการเลี่ยงอากร anti-dumping ที่มีการนำเข้ามาในปี 2565 นั้น มีจำนวนมากถึง 22,000 ตัน ที่มาจากจีน และกัมพูชา 6,500 ตัน และอาจมีการหลบเลี่ยงเข้ามาในพิกัดท่อที่ไม่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) อีกกว่า 50% เป็นการหลบเลี่ยงเข้าไปในพิกัดที่ไม่ได้ถูกใช้มาตรการ AD เช่น พิกัดท่อ API หรือท่อ seamless
นายกวินพัฒน์ กล่าวว่าปัจจุบันทางสมาคมฯอยู่ระหว่างให้ข้อมูลกับกรมการค้าต่างประเทศเพื่อพิจารณาต่ออายุการใช้มาตรการAD และภาษีขั้นสุดท้ายกับสินค้าท่อเหล็กที่มาจากจีน และเกาหลีใต้ (ที่ไทยใช้มาตรการมาตั้งแต่ปี 2563)ส่วนของการนำท่อเหล็กไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการใช้งาน และสมาคมยังอยู่ระหว่างขอทบทวน(review) มอก. 107-2561 ต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยวัตถุประสงค์ของการ review เพื่อให้ท่อที่มีการผลิตและจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันได้อยู่ในมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้งานตามประเภทต่างๆของท่อโลหะได้อย่างถูกต้อง
สำหรับภาพรวม ปี 2566 จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการก่อสร้างเริ่มกลับมาฟื้นตัวตาม ส่งผลให้วัสดุก่อสร้างต่างๆ มีความต้องการใช้งานมากขึ้น ขณะที่คาดไตรมาสแรกของปีนี้ วัตถุดิบหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น hot roll coil หรือ coated steel coil ชนิดต่างๆ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในประเทศ เนื่องจากหลายประเทศเวลานี้ ได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเน้นงานก่อสร้างภาครัฐรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจากการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับมาผลิตท่อเหล็กจะทำให้การผลิตไม่มีความต่อเนื่องในไตรมาสแรก แต่คาดจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงต่อไป จากผู้ผลิตวัตถุดิบหลายรายเริ่มมีการเพิ่มกำลังการผลิต ตามความต้องการใช้งาน และตามดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
สำหรับด้านปัจจัยเสี่ยงหรือปัญหาด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องเก่า และเรื่องใหม่ ที่สำคัญใน 3 ประเด็นได้แก่ 1. การที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น ราคานํ้ามันดีเซลที่มีการตรึงราคาปัจจุบันอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร เทียบกับเดือนมกราคม 2565 ราคาสูงขึ้นกว่า 5 บาทต่อลิตร และดอกเบี้ยธนาคารปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หากภาครัฐฯยังไม่มีมาตรการแก้ไขเร่งด่วน ผู้ผลิตท่อโลหะฯ อาจต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
2.ปัญหาจากการลักลอบนำเข้าสินค้าเหล็กที่มีการเรียกเก็บอากร AD ที่เพิ่มขึ้น โดยขายราคาตํ่ากว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศกว่า 20% ส่งผลการใช้กำลังผลิตในประเทศสามารถผลิตได้เพียง 40-50% 3.ปัญหาซัพพลายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตท่อเหล็กยังขาดแคลนจากภาคการก่อสร้างของภาครัฐทั่วโลกเริ่มการฟื้นตัว ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กต้นนํ้าและกลางนํ้าที่หยุดเดินเครื่องจักรไปเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้กลับมาผลิตอีกครั้งแต่ยังไม่สามารถซัพพลายได้ทันในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ในระยะต่อไปคาดจะคลี่คลายดีขึ้น
ส่วนสุดท้ายในด้านของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีการชะลอตัวตั้งแต่ปี 2564-2565 ที่ผ่านมา คาดการว่าปี 2566 นี้จะค่อนข้างเป็นปีที่สดใสเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศเริ่มกลับมา และอัตราเงินเฟ้อที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 9% แต่อัตราเงินเฟ้อปี 2565 สรุปที่ 6.08% นั้นเป็นสัญญาณบวกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่เหมือนที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้การก่อสร้างภาครัฐและเอกชนกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
“มองว่าภาพรวมของตลาดอสังหาฯมีการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีกว่าปี 2565 เพราะปัจจัยบวกหลายอย่างที่ปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขยายตัวภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของประเทศไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างรวมถึงท่อเหล็กนั้นได้รับอานิสงส์จากปัจจัยนี้ไปด้วย”
สุดท้าย ทางสมาคมฯมองว่าเรื่องค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล และดอกเบี้ยธนาคารที่มีการปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นต้องปรับเพิ่มขึ้นตาม ทำให้ผู้ผลิตในประเทศนั้นต้องเผชิญกับภาวะในการแบกภาวะต้องทุนที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้ายังมีการปรับค่าไฟฟ้าต่ออีกทางผู้ผลิตในประเทศนั้นอาจจะไม่สามารถแบกรับภาระด้านนี้ไหว และอาจจะต้องมีการปรับราคาขายเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนในการผลิตจริง และการต่ออายุมาตรการ anti-dumping สินค้าท่อโลหะจากจีน และเกาหลีใต้จะเป็นการช่วยผู้ผลิตในประเทศเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและทำให้ผู้บริโภคได้ของดีที่มีคุณภาพ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3860 วันที่ 9 -11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566