เตือนไทย-อาเซียนระวัง ! จีนจ่อส่ง “เหล็ก” ทุ่มตลาดระลอกใหม่

14 ก.ย. 2565 | 03:34 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2565 | 10:54 น.

ต้องจับตากันอีกครั้งเมื่อคาดการณ์การบริโภคเหล็กปี 2565 ไม่เป็นไปตามคาด จากเดิมที่วงการอุตสาหกรรมเหล็กต่างประเมินว่าภาพรวมปีนี้จะดีขึ้นและต่างมั่นใจว่าแรงกระเพื่อมจากวิกฤติโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายทั่วโลก

 

เตือนไทย-อาเซียนระวัง ! จีนจ่อส่ง “เหล็ก” ทุ่มตลาดระลอกใหม่

 

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าแต่ละประเทศจะกลับเข้าสู่โหมดเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศอย่าง “เหล็ก” จะกลับมาคึกคักขึ้น แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้น นายวิโรจน์  โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ฉายภาพผ่าน“ฐานเศรษฐกิจ” อย่างน่าสนใจ

 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ปกติประเทศไทยจะบริโภคเหล็กเฉลี่ยปีละ 18-20 ล้านตัน ปีที่ผ่านมา บริโภค 18.7 ล้านตัน และเป็นปีที่ราคาเหล็กทั่วโลกพุ่งขึ้นสูง  เนื่องจากประเทศจีนมีการผลิตลดลง โชคดีที่ประเทศไทยมีการผลิตเหล็กในประเทศเองส่วนหนึ่ง แม้ราคาจะสูงขึ้นเช่นกัน แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนสินค้า

 

  • บริโภคเหล็กครึ่งปีแรกวูบ 17%

สำหรับปี 2565 ตั้งแต่ต้นปี เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อพุ่งขึ้นทั่วโลก  กดดันการบริโภคไม่ขยายตัวตามที่คาด ส่งผลให้แนวโน้มราคาเหล็กและสินค้าจำพวกโลหะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงไตรภาคที่ 2 ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2565 การบริโภคเหล็กของไทยโดยรวมลดลงถึง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศ และการสะดุดของห่วงโซ่วัตถุดิบการผลิตรถยนต์ และสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาเดียวกันทั่วโลก โดยในจีนก็มีปัญหาด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ ก็เป็นปัจจัยทำให้การบริโภคเหล็กของจีนหดตัวลงเช่นกัน

 

 

  • เหล็กจีนเหลือภัยต่ออาเซียน

นายวิโรจน์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า จากข้อมูล 10 ประเทศที่ผลิตเหล็กสูงสุดของโลก (กราฟิกประกอบ)ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ทุกประเทศมีการผลิตลดลง ยกเว้นอินเดีย อย่างไรก็ดีตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญที่น่าสนใจคือ ตัวเลขของจีน ที่มีสัดส่วนประมาณ 52% ของการผลิตเหล็กทั้งโลก มีการผลิต 526.9 ล้านตัน ลดลง 6.5% สะท้อนให้เห็นถึงการอ่อนตัวของปริมาณการบริโภคเหล็กทั่วโลก และไปกดดันเรื่องราคา เพราะแม้การผลิตเหล็กของจีนจะชะลอตัวลง แต่การบริโภคเหล็กของจีนเองก็ลดลงด้วย จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการล็อกดาวน์ ทำให้สินค้าคงคลังเหลือมากผิดปกติ

 

เตือนไทย-อาเซียนระวัง ! จีนจ่อส่ง “เหล็ก” ทุ่มตลาดระลอกใหม่

 

“มองกันว่าครึ่งหลังของปีนี้การบริโภคของจีนก็ยังฟื้นตัวได้ไม่มาก อาจทำให้สินค้าเหล็กของจีนมีเหลือที่จะส่งออกมาในประเทศกลุ่มอาเซียนมากขึ้น เพราะอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกเหล็กใหญ่สุดของจีน จะกลายเป็นความเสี่ยงของการทุ่มตลาดได้”

 

 

 

 

สำหรับไทยในครึ่งแรกของปี 2565 หากโฟกัสที่ไตรมาส 2 ตามรายงานล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ จะพบว่า การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 9.0 ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องจักรเครื่องมือ สอดคล้องกับตัวเลขด้านเหล็กในรอบครึ่งปีแรกของไทยที่นำเข้าเหล็กจากทุกประเทศลดลง โดยเฉพาะการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็ก (สำเร็จรูป) จาก ญี่ปุ่น จีน  เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม

 

วิโรจน์  โรจน์วัฒนชัย

 

เมื่อถามว่าปี 2565 เป็นขาขึ้นของอุตสาหกรรมเหล็กหรือไม่นั้น   นายวิโรจน์ มองว่า โดยรวมน่าจะทรงตัวหรือลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 มากกว่า แม้ว่าราคาสินค้าเหล็กในปี 2564-2565 อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนโควิด แต่ก็เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านพลังงานและราคาสินแร่ แต่ไตรมาส 3 ของปีนี้ราคาเหล็กก็อ่อนตัวลง และความต้องการเหล็กในกลุ่มอาเซียนฟื้นตัวค่อนข้างช้าหลังผ่านวิกฤติโควิด 

 

รวมถึงการฟื้นตัวภาคก่อสร้างและภาคท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวช้าทั่วอาเซียน สัญญาณการบริโภคเพิ่งมาค่อย ๆ เริ่มฟื้นในไตรมาส 3 และเนื่องจากสินค้าเหล็กคงคลังในจีนยังมีระดับสูง จึงมองว่าในระยะต่อไปของปี 2565-2566 ปัญหาเรื่องการทุ่มตลาดเหล็กจะกลับคืนมาอีก 

 

  • จับตาจีนเร่งระบายส่วนเกิน

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า จีนยังเป็นประเทศที่ผลิตเหล็กมากที่สุดในโลก ปี 2564 ผลิตได้ถึง 1,031 ล้านตัน ส่วนครึ่งแรกปีนี้ผลิตออกมาแล้ว 527 ล้านตัน ทั้งที่มีการล็อกดาวน์ และมีปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ขณะที่ตัวเลขรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 5-11 สิงหาคม จีนถลุงเหล็กเพิ่มขึ้น 1.34% เป็นสัญญาณว่า การผลิตเหล็กของจีนจะเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น

 

เตือนไทย-อาเซียนระวัง ! จีนจ่อส่ง “เหล็ก” ทุ่มตลาดระลอกใหม่

 

จากข้อมูลในปี 2559-2562  จีนส่งออกเหล็กมายังอาเซียนปีละ 21-36 ล้านตัน แต่ปี 2563 ที่โควิดระบาด  จีนส่งออกมาเพียง 14.9 ล้านตัน ปี 2564 สถานการณ์เริ่มดีขึ้นการส่งออกเหล็กของจีนมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตัน หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนคาดแนวโน้มการส่งออกเหล็กของจีนน่าจะกลับมาเหมือนเดิมในปีนี้ แต่ในช่วงครึ่งปีแรก จีนยังมีการล็อกดาวน์ในบางเมืองทำให้การส่งออกเหล็กยังไม่กลับมา

 

“ที่น่าจับตา หากการล็อกดาวน์ของจีนหมดไป ประเมินได้ว่าในเดือนที่เหลือของปีนี้รวมถึงในปีหน้าการกลับมาส่งออกเหล็กสู่ตลาดอาเซียนจะกลับมาได้ไม่ยากเลย เพราะจีนยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากที่ต้องเร่งระบายสต๊อก ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังไม่กลับมาสู่ระดับก่อนหน้า ดังนั้นตลาดส่งออกจึงเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมเหล็กของจีนอย่างแน่นอน”

 

  • ปีหน้ายังไม่โตมาก

นายวิโรจน์ ยังคาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กของไทยในปี 2566 จะขยายตัวไม่มากโดยจะขยายตัวประมาณ 2-3% ขณะที่คาดทั่วโลกรวมถึงไทยจะผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นอีก  ทำให้ปริมาณสินค้าเหล็กน่าจะเกินความต้องการ และการแข่งขันในตลาดน่าจะรุนแรง ทั้งนี้ Big Player  ในอุตสาหกรรม จะเห็นว่ากลุ่มบริษัทของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย มีการผลิตอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ละรายมีการผลิตระดับ 50-120 ล้านตันต่อปี ในไทยเองส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเหล็กจากเศษเหล็ก และนำเข้าเหล็กกึ่งสำเร็จรูปมาแปรรูป ในระดับหลายแสนตันถึงล้านตันต่อปี อาทิเช่น กลุ่มมิลล์คอน ไทคูณ สยามยามาโตะ โรงงานเหล็กกรุงเทพ ทาทาสตีล จีสตีล สหวิริยา เป็นต้น

 

เตือนไทย-อาเซียนระวัง ! จีนจ่อส่ง “เหล็ก” ทุ่มตลาดระลอกใหม่

 

หากดูอัตราการใช้กำลังการผลิตในแต่ละโรงงานของไทยค่าเฉลี่ยค่อนข้างตํ่า อยู่ที่ราว 30-40% ของกำลังการผลิต เทียบกับต่างประเทศโดยทั่วไปใช้กำลังการผลิต 60-80% หมายความว่าโรงงานเหล็กของไทยยังมีกำลังเครื่องจักรเหลือเฟือ ขณะที่การบริโภคเหล็กสำเร็จรูปของไทยยังบริโภคสินค้านำเข้าสูงเกินครึ่ง หากมองในแง่ดีคือ ไทยมีศักยภาพที่จะส่งเสริมผู้บริโภคให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น สามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างโรงงานเพิ่ม และยังช่วยให้ระบบเศรษฐกิจภายในหมุนเวียน เพิ่มการจ้างงาน และลดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่การผลิตในอนาคต