แม้การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต้นเดือนก.พ. 2566 มีแนวโน้มจะกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวด 2 (เดือนพ.ค -ส.ค. 2566) ให้เป็นอัตราเดียวทั้งครัวเรือนและการผลิต-พาณิชย์ และมีโอกาสลดลง จากทิศทางราคาก๊าซแอลเอ็นจี ลดลงมากเหลือ 15-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 40-47 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเมื่อช่วงปลายปี 2565 แต่ผู้ประกอบการภาคการผลิตไม่วางใจ เพราะยังมีภาระค้างจ่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)อีกถึง 170,000 ล้านบาท
นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) (TRS) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของภาคใต้ฝั่งอันดามัน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องกระทบธุรกิจอย่างมาก โดยล่าสุดต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าจากเฉลี่ยที่หน่วยละ 4.72-5.00 บาท ปรับขึ้นเป็น 5.20-5.50 บาท ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15%
“ปกติในปี 2565 มีค่าไฟฟ้าต้องจ่ายเดือนละ 5 ล้านบาท ตกปีละ 60 ล้านบาท เมื่อต้องเจอค่าไฟฟ้าปรับขึ้นอีก 15% ต้องจ่ายเพิ่มอีกเดือนละกว่า 1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกปีละกว่า 12 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาขั้นต้นที่ยังไม่นิ่ง ว่ากันว่าการไฟฟ้าจะดันค่า Ft เพิ่ม ให้ค่าไฟไปถึงหน่วยละ 6 บาท ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างหนัก”
นายบุญชูกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเวียดนามเป็นคู่แข่ง อาหารทะเลของไทย ค่าไฟฟ้าเขาอยู่ที่หน่วยละ 2.50 บาท เทียบกับของไทยที่หน่วยละ 5.20 ถึง 5.50บาท ต่างกันคนละครึ่ง จะสู้เวียดนามได้อย่างไร แล้วใครจะมาลงทุนเมืองไทย ถ้าค่าไฟฟ้าแพงกว่าเพื่อนบ้าน ส่วนนโยบายรัฐที่เปิดโอกาสให้เอกชนผลิตไฟฟ้าได้เองนั้นก็ทำได้ยาก เพราะเงื่อนไขการตั้งโรงไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องง่าย เอกชนรายเล็กๆ ทำแล้วแข่งไม่ได้ ไม่ได้ช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลง
“ตอนนี้ประเมินสถาน การณ์ไม่ได้เลย ว่านับจากนี้ต่อไปอีก 3 เดือน ถึง 1 ปี ข้างหน้า จะต้องเจอกับอะไรบ้าง ก็ต้องหาทางบริหารเอาตัวรอดเป็นช่วงๆ มองสั้นๆ ในระยะ 3 เดือนเท่านั้น ไหนยังจะต้องเจอการปรับขึ้นค่าแรงอีก จากตอนนี้อยู่ที่วันละ 350-380 บาท ถ้าขึ้นอีกก็ต้องจ่ายเป็นวันละประมาณ 400 บาท ถือเป็นสัดส่วนต้นทุนสูงสุดของผู้ประกอบการ จึงอยากให้มองปัญหาในระยะยาวด้วย
นายบุญชูยังกล่าวด้วยว่า ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากหลังจากนี้อีกเรื่องคือ ในเดือนมีนาคมรัฐบาลจะหมดวาระการทำงาน เข้าสู่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จะทำ ให้เกิดสุญญากาศในการบริหารประเทศ ถ้าหากผู้บริหารไม่ได้ดูแลประเด็นนี้ อาจจะมีการถือโอกาสขึ้นค่า Ft ไปเอง กว่าที่รัฐบาล ใหม่จะเข้ามาจัดการตอนนั้น ราคาค่าไฟก็ขึ้นไปชนเพดานแล้ว ในฐานะที่เป็นภาคอุตสาหกรรมก็รู้สึกเป็นห่วงในประเด็นนี้ เพราะเมื่อค่าไฟขึ้นค่าอื่นๆ ก็จะต้องปรับตาม ทั้งวัตถุดิบ ค่าแพคเกจจิ้ง ค่าขนส่ง และเงินเฟ้อก็จะต้องตามมาอีก
ทั้งนี้ บริษัทตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเลฯ ตั้งอยู่ที่ ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง จ.ตรังมีกำลังการผลิตวันละ 20-30 ตัน จากโรงงาน 4 โรง ที่ต้องรักษาอุณหภูมิแตกต่างกัน เช่น ส่วนของแผนกการผลิตจะต้องใช้ไฟฟ้าเฉพาะเวลากลางวัน ที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส ส่วนโกดังที่จะต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย ห้องแช่แข็ง หรือห้องฟรีซ อุณหภูมิติดลบ 40-50 องศาเซลเซียส โกดังจัดเก็บผลิตภัณฑ์ อุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ บางห้องจากที่ต้องใช้อุณหภูมิติดลบ 25 องศา ก็ลดความเย็นลงมาที่ลบ 20 องศา เพื่อความประหยัด แต่คงคุณภาพ แต่หากเป็นปลาตัวใหญ่ ประเภทปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลากะพงแดง ต้องใช้ที่อุณหภูมิติดลบ 30 องศาเซลเซียส จึงทำให้โรงงานอาหารแช่แข็งจำเป็นต้องใช้ กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก
ขณะที่นายสาวุฒิ วงศ์หนองเตย กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยสากลบรรจุภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหนักสุดของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ตรังคือ ไฟดับ ไฟตก ที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือน กลุ่มโรงงานเกิดปัญหาไม่สามารถบริหารจัดการโรงงานได้
กรณีไฟดับโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เกิดความเสียหาย เพราะโรงงานต้องผลิตสินค้า เพื่อส่งมอบลูกค้าให้ทันเวลาที่ตกลงซื้อขายไว้ ทำให้ที่ผ่านมาถูกลูกค้าตำหนิ หรือบางรายถึงกับเรียกค่าปรับหากโรงงานส่งสินค้าล่าช้า
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเข้มงวดเรื่องการให้บริการที่ดี กับประชาชน การไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อบริการสาธารณะ ซึ่งทางการไฟฟ้าต้องตระหนัก และมีมาตรการแสดงความรับผิดชอบ กรณีไฟฟ้าดับโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ว่าจะรับผิดชอบกับความเสียหายของโรงงานหรือบ้านเรือนอย่างไร ประกาศออกมาให้ชัด และผู้ว่าฯก็ต้องนั่งหัวโต๊ะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการแก้ไขปัญหา จะบริการตามยถากรรมเหมือนอดีตไม่ได้แล้ว
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,863 วันที่ 19-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566