ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากโครง การพัฒนาท่าอากาศยานตรัง งบกว่า 4,000 ล้านบาท มีความคืบหน้าและเตรียมเปิดใช้งาน ประกอบกับสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และทางการจีนเปลี่ยนนโยบายเปิดให้ประชาชนเดินทางเข้าออกประเทศได้แล้ว ตั้งแต่ 8 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ทำให้ตรังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการท่องเที่ยวแถบชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเอเยนซี ทัวร์ในภูมิภาคทะยอยลงพื้นที่ตรัง เพื่อสำรวจตลาดและความพร้อมการเดินทาง และทำแผน การท่องเที่ยวไปเสนอขายในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เอเยนซีทัวร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวรายใหญ่จากจีน ได้เดินทางมาดูสนามบินตรัง พร้อมทั้งขอข้อมูล เพื่อจะนำเครื่องบินเช่าเหมาลำ นำนักท่องเที่ยวจากเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และไต้หวัน มาเที่ยวจังหวัดตรัง เพื่อชมธรรมชาติที่สวยงาม อาหารอร่อย และท่าอากาศยานตรังมีความพร้อม ในการรองรับเครื่องบินจากต่างประเทศได้แล้ว
ทั้งนี้ ตรังเป็นจุดหมายการจัดแผนการท่องเที่ยวของ เอเยนซีทัวร์จากจีน ตั้งแต่ก่อนการระบาดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่จากคุนหมิง เคยยกคณะมาสำรวจท่าอากาศยานตรังถึง 3 ครั้ง เพื่อจะนำนักท่องเที่ยวจากคุนหมิงขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำมาตรัง แต่พักไปก่อนจากโควิด- 19 ระบาด
นอกจากนี้ เมื่อ 4 เดือนก่อน หลังจากไทยและประเทศในภูมิภาคเปิดประเทศหลังโควิดคลี่คลาย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และเอเยนซีทัวร์จากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็นำทีมมาสำรวจสนามบินตรัง เพื่อเปิดตลาดท่องเที่ยวที่ตรังเช่นกัน
นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพัฒนาสนามบินตรัง ให้เป็นสนามบินนานาชาติเต็มรูปแบบ เมื่อแล้วเสร็จ ด้วยศักยภาพของจังหวัดตรัง เชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนโฉมตรังเป็นเมืองการท่องเที่ยว การค้า การ ลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
เนื่องจากตรังมีความพร้อมทุกด้าน โครงข่ายคมนาคมขนส่งครบ ทั้งสนามบินนานาชาติ เส้นทางรถไฟ รถยนต์ ตลอดจน ท่าเรือ ทั้งเรือประมง เรือชายฝั่ง หรือระหว่างประเทศ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งภูเขา ป่า ที่ราบ ทะเล ไปถึงเกาะแก่งต่างๆ มีพื้นที่ทั้งเพื่อการ เกษตรและท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน
ประธานหอการค้าตรังชี้อีกว่า สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง คือ โรงแรม รีสอร์ท หรือที่พักที่ได้มาตรฐานระดับ 4-5 ดาว รวมถึงบริการต่างๆ เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง แหล่งช้อปปิ้ง การขนส่งโดยสารสาธารณะ เพราะกลุ่มนี้ต้องการบริการที่ดี มีเงินพร้อมจ่าย โดยจะเป็นการลงทุนของคนตรังเอง หรือนักลงทุนสนใจจะมาลงทุนที่นี่ก็ยินดีต้อนรับ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกสาขาอาชีพ ต้องร่วมมือกันวางมาตรการให้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มั่นคงและยั่งยืน คัดเลือกกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ผู้ให้บริการก็ขายสินค้าที่ดีราคาเหมาะสม ไม่เน้นเพิ่มจำนวนเข้ามามากจนล้น ให้บริการไม่ทัน หรือเกิดการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจนเกิดอคติ ต่อไปก็ไม่มีใครมา
“เราเคยมีบทเรียนมาหลายที่แล้ว อย่างการนำทัวร์ศูนย์เหรียญเข้ามา ปรากฏว่าคนในพื้นที่แทบไม่ได้อะไรเลย กลุ่มคนจีนลงทุนเองหมดเกือบครบวงจร ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวจีนกันเองหมด เงินเรานำกลับไปบ้านเขาหมด เรื่องอย่างนี้ผู้ประกอบการไทยต้องจับมือกันวางมาตรการ และภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนจึงจะไปได้ อย่าเร่งรวยจนเกิดผลเสีย เพราะเป็นอาชีพที่อ่อนไหวมาก”
นายธีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตรังมุ่งการท่องเที่ยว ต่อเนื่องสู่การประชุม สัมมนา จนถึงด้านกีฬา ซึ่งจะดึงการค้าการลงทุนตามมา ทำให้เศรษฐกิจตอบโตได้ต่อเนื่อง ในปี 2568 กลุ่มจังหวัดอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่และตรัง เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ โดยนอกจากมีสนามบินกระจายทั่วแล้ว ใน 4 จังหวัดนี้มีวิทยาลัยการกีฬา และมหาวิทยาลัยกีฬา พร้อมรองรับการแข่งขันด้วย
ด้าน พ.จ.อ.เมืองชล วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เผยว่า การพัฒนาท่าอากาศยาน 4 แผนงาน งบรวมกว่า 4,000 ล้านบาทนั้น เวลานี้แผนงานขยายลานจอดเครื่องบินให้ได้พร้อมกัน 10 ลำ ก่อสร้างเสร็จแล้ว ส่วนการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร(เทอมินัล)ใหม่ คืบหน้ากว่า 76% คาดจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2566 นี้ โดยขั้นตอน หลังจากนั้นต้องให้สำนักงานการบินพลเรือน เข้ามาตรวจรับรองตามกฎระเบียบการบินก่อน
ในส่วนการบินระหว่างประเทศ ทางท่าอากาศยานตรังจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร และด่านกักกันพืชโรคและสัตว์ มาประชุมเตรียมการรองรับ คาดว่าจะเปิดได้เร็วที่สุดภายในต.ค. 2566 หรือไม่เกินปลายปีนี้
ส่วนบริการเติมนํ้ามันเครื่องบินนั้น ช่วงแรกจะประสานผู้ให้บริการนํ้ามันนำรถโมบายมาเติมให้ หากมีเที่ยวบินมากจนคุ้มที่จะตั้งสถานีบริการนํ้ามันเชื้อเพลิงเครื่องบินได้ จะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อไป โดยในช่วงแรกบริการเครื่องบินขนาดไม่เกิน 180 ที่นั่ง แบบโบอิ้ง 737- 800 แอร์บัส 320-200 หรือเครื่องบินแบบอื่นๆ ที่ใช้ทางวิ่งไม่เกิน 2,100 เมตร จนกว่าแผนงานขยาย ทางวิ่ง(รันเวย์)สนามบิน ออกไปให้ได้ความยาว 2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตามสัญญาจะแล้วเสร็จม.ค. 2568
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,855 วันที่ 22-25 มกราคม พ.ศ.2566