รายงานข่าวเผยว่าสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย, สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน จะจัดงาน “มหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ขึ้นระหว่างวันที่ 22-26ก.พ. 2566 ณ ตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานเปิดงาน
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อผลักดันพืชยางพาราให้เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ตามในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 รวมทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้อง มีความกระตือรือร้นด้านการสร้างความร่วมมือกันของประเทศผู้ผลิตยางพารา เกษตรกรสวนยางพารา อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง
โดยเน้นความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสินค้าเกษตร และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร ภายใต้การขับเคลื่อน “โครงการเกษตรปลอดภัยครัวไทยสู่ครัวโลก”และแนวทาง “เกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม”เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ภายในงาน จะมีนิทรรศการจากหน่วยงานราชการ และร้านค้าเอกชน โดยเน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ผู้ร่วมงาน ยังสามารถเข้ารับฟังสัมมนา / เสวนาวิชาการ รับความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เน้นการแปรรูปเกษตรเป็นอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตามที่ตลาดโลกต้องการ
นอกจากนี้เพื่อเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งมีความพร้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีด้านการเกษตร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับยางพาราและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสินค้าอื่น ๆ และเวทีการแสดงนักร้องที่มีชื่อเสียงจากค่ายต่าง ๆ เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
“การจัดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ครั้งนี้ต้องขอขอบเอกชน ห้างร้าน ต่าง ๆ ที่ได้ร่วมด้วยช่วยกัน ในการสนับสนุนงบประมาณจัดงานดังกล่าว โดยเน้นการเชื่อมโยงภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบเดียวกันเน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เป็นครั้งแรกในงานนี้”
นายอุทัย กล่าวว่า ยังได้นำเสนอการเชื่อมโยงการนำนวัตกรรมการตรวจวัดคาร์บอนเครดิตในสวนยาง กับ บ.วารุณา ในเครือปตท. และ SCGC ในเครือซิเมนต์ไทยพื้นที่สวนยาง จ.ระยองร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยเพื่อผลักดันสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ปี 2565/66
นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัย วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี ชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับ ศูนย์ภาษา และ วัฒนธรรมจีน ดรุณาฝู่เจ๋อ มอบทุนการศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขา วิศวกรรมเครื่องกล(เครื่องกลด้านการแปรรูปวัสดุโพลีเมอร์ ) และสมาคมการค้าอินเตอร์อุตสาหกรรมร่วมมิตรไทย-จีน ให้กับ ลูกหลานชาวสวนยาง จำนวน 7 ทุน มูลค่า 3,360,000 บาท
“หวังว่าจะได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราอย่างเป็นระบบ โดยดึงนักลงทุน SME ไทยและต่างประเทศ ได้มาร่วมลงทุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC มุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราภายในประเทศและต่างประเทศ เกิดการจับคู่ธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา และนักลงทุนชาวต่างประเทศมีความสนใจอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทยเพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมต่อเกษตรกรชาวสวนยาง”
ในช่วงท้าย นายอุทัย ได้ฝากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญพืชเศรษฐกิจยางพาราของประเทศไทย พร้อมทั้งผลักดันให้ยางพาราเป็นพืชวาระแห่งชาติของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ยางพาราของโลก เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนายางพาราและพืชเศรษฐกิจในองค์รวมเกิดความยั่งยืนต่อไป