บทความโดย : วลัญช์ ศรัทธา นักวิชาการด้านปศุสัตว์
ข่าวการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ตามโครงการ “ท่าเรือสีขาว” เพื่อตรวจสอบสินค้าผิดกฏหมายที่กรมศุลกากรเป็นโต้โผดำเนินการ และมีการแถลงข่าวเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น สร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐสุ่มเปิด 5 ตู้ เป็นตู้ประเภทเสียบปลั๊กไฟฟ้าแช่เย็น 3 ตู้ และเป็นตู้แห้งที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าอีก 2 ตู้ น่าตกใจ ในตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นทั้งหมด บรรจุ “หมูเถื่อน” จากบราซิล มากถึง 90,000 กิโลกรัม
จากรายงานของกรมศุลกากร ระบุว่า ปัจจุบันที่ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้สินค้าที่เป็นของกลาง ของตกค้าง ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือรอจำหน่าย จำนวนทั้งสิ้น 331 ตู้ ในจำนวนนี้เป็นตู้แช่เย็นที่เสียบไฟฟ้าอยู่ 64 ตู้ หากเทียบสถิติการเปิดตู้วันแรก พบว่าทุกตู้แช่เย็นเป็นตู้บรรจุหมูเถื่อนทั้ง 100% นั่นแสดงว่าเราอาจจะพบหมูเถื่อนอีก 64 คูณด้วย 30,000 กก. เท่ากับ 1,920,000 กิโลกรัม มากกว่าหมูเถื่อนที่ถูกฝังทำลายครั้งประวัติศาสตร์ 7 แสนกิโลกรัมที่ จ.เพชรบุรีด้วยซ้ำ (ผู้เขียนคาดว่าหากมีสินค้าแช่แข็งอื่น ๆ ปะปนบ้าง ก็ไม่น่าเกิน 20-30% ของตู้ทั้งหมด)
นี่เป็นเพียงปริมาณหมูเถื่อนที่ตกค้างอยู่ในตู้ แล้วที่อยู่นอกตู้ปะปนอยู่ในตลาดจะมากมายมหาศาลเพียงใด ว่ากันว่ากว่าครึ่งหนึ่งของร้านจำหน่ายชิ้นส่วนหมูสดในประเทศไทย ล้วนเคยมีประสบการณ์รับซื้อหมูเถื่อนเข้ามาขายทั้งสิ้น ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมขณะนี้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของไทยจึงตกต่ำกราวรูดลงจาก 100 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงมาเหลือเพียง 70-80 บาทต่อกก.ในขณะนี้ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยเดือดร้อน ขาดทุนกันแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นที่มาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์(พิกบอร์ด)เรียกประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ปกติแล้วการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์เข้ามายังราชอาณาจักรไทย ผู้นำเข้าต้องแจ้งทั้งการท่าเรือฯ กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ก่อนที่ตู้สินค้าจะมาถึง และเมื่อตู้ถูกวางไว้ที่ท่าเรือแล้ว เท่ากับว่าผ่านกระบวนการแจ้งนำเข้ามาแล้วกำลังรอการสำแดงเพื่อนำตู้ออกจากท่าเท่านั้น หมายความว่า อย่างน้อยหน่วยงานรัฐสองแห่งแรก ย่อมมีเอกสารที่ระบุรายชื่อผู้นำเข้า อยู่ในมือ ดังนั้นการเปิดตู้พบสินค้าผิดกฎหมายเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะติดตามเจ้าของตู้สินค้าเหล่านี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสาวไปให้ถึงต้นตอ เว้นเสียแต่จะมีการปกปิดกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่สมควรจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดีในระหว่างทางที่ภาครัฐต้องเร่งจัดการ “หมูเถื่อน” ที่เข้ามาเบียดเบียนตลาดของเกษตรกร อีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องทำควบคู่กันไป ก่อนที่เกษตรกรจะล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ คือการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เพื่อลดภาวะขาดทุน ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่ ต้นทุนการผลิตสำคัญของคนเลี้ยงหมูคือ “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ซึ่งจุดนี้มีกรมการค้าภายใน เป็นผู้รับผิดชอบดูแลราคาธัญพืช ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ฯลฯ รวมไปถึงดูแลราคาขายปลายทางให้คุ้มต้นทุนจะเรียกว่า “เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู” อยู่ในกำมือของกรมการค้าภายในก็คงไม่ผิดนัก
หนึ่งในหัวข้อหาที่เกษตรกรเรียกร้องขอความช่วยเหลือเร่งด่วน คือการขอให้รัฐบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะวัตถุดิบอาหารสัตว์ขึ้นราคา อาทิ ยกเลิกมาตรการอุปสรรคต่าง ๆ เช่น มาตรการนำเข้าข้าวโพด : ข้าวสาลี (3:1) ที่ไม่เอื้อต่อการจัดหาวัตถุดิบ ระเบียบโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และอื่น ๆ รวมถึงยกเลิกภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตลอดจนวางแผนระยะยาวให้ครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งเส้น เพื่อเกษตรกรไทยจะสามารถประกอบอาชีพผลิตอาหารเพื่อคนไทยต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ท้ายบทความระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเพื่อคนไทย เวลานี้บอบช้ำหนักจากถูก “หมูเถื่อน” มาเบียดเบียนตลาด โดยที่ฝีมือการป้องกันของรัฐที่ยังสอบไม่ผ่าน และยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเกิดจากปัจจัยด้านนโยบายรัฐที่สร้างอุปสรรคด้านนี้มานาน ขณะที่ราคาขายหมูไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหากไม่รีบแก้ไข ผู้เลี้ยงหมู และผู้บริโภคคงย่ำแย่กันทั้งประเทศ