ในทุกปีประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราว 8 ล้านตัน แต่มีผลผลิตในประเทศเพียง 5 ล้านตันต่อปี ยังขาดแคลนถึง 3 ล้านตัน ในส่วนนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อทดแทนส่วนที่ขาด ปี 2566 ปัญหาดังกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้น
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และราคาสูงยังคงเป็นปัญหาและภาระต่อเนื่องของโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างข้าวโพดเลี้ยงในปี 2564 เฉลี่ยที่ 10.05 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปี 2565 เฉลี่ยที่ 12.34 บาทต่อกก. ข้าวสาลี ปี 2564 เฉลี่ย 8.94 บาทต่อ กก. และปี 2565 เฉลี่ย 14.17 บาทต่อ กก. (กราฟิกประกอบ)
ที่ผ่านมาในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ช่วยเกษตรกรที่ 8.50 บาทต่อ กก.โดยให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อไม่ตํ่ากว่า 8 บาทต่อ กก. และมีมาตรการช่วยเหลืออีกชั้นหนึ่งคือมาตรการ 3:1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) และในส่วนของกากถั่วเหลืองที่เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญยังเก็บภาษีนำเข้าที่ 2% เพื่อช่วยเหลือโรงสกัดนํ้ามันถั่วเหลืองในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการขายกากถั่วเหลืองราคาสูงให้โรงงานอาหารสัตว์ก็ควรยกเลิกเช่นกัน เพราะรัฐได้ภาษีไม่กี่บาท แต่ทำให้อาหารสัตว์มีราคาแพง
“เมื่อรัฐบาลมีประกันรายได้ข้าวโพดที่ 8.50 บาทต่อกิโลฯ ให้เกษตรกรแล้ว ก็ควรปล่อยให้ราคาข้าวโพดขึ้นลงตามราคาตลาด แต่ยังมาบังคับ (ขอความร่วมมือ) ให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด กิโลฯละ 8 บาท (คลิกอ่าน) และให้ส่งออกข้าวโพดได้ด้วย เทียบกับมันสำปะหลังปล่อยให้นำเข้าโดยไม่จำกัดโควตา (โดยกำหนดด่านนำเข้า) ทั้งที่มีประกันรายได้เช่นกัน มองว่าวันนี้รัฐลำเอียงมาก”
ทั้งนี้เสนอให้การนำเข้าข้าวโพด 3 ล้านตันทดแทนส่วนที่ขาดในประเทศเป็นการนำเข้าเสรี โดยผู้ต้องการนำเข้าให้ไปจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้า โดยรัฐออกใบอนุญาต และจัดสรรโควตาให้แต่ละบริษัทถือครองไว้ และให้นำเข้ามาในช่วงที่รัฐบาลกำหนด ส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ได้โควตา และไม่มีใบอนุญาต หากมีการนำเข้ามาให้ถือเป็นของเถื่อน ที่ต้องมีบทลงโทษสูง รวมถึงการยกเลิกสัดส่วน 3:1 ที่เป็นอุปสรรค และเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงผลต่อราคาสินค้าที่บริโภคต้องแบกรับ
“ที่น่าห่วงคือผู้ประกอบการอาหารสัตว์รายเล็กๆ ที่มีมากกว่า 10% ของโรงงานอาหารสัตว์ทั่วประเทศที่ใช้ข้าวโพดประมาณปีละ 5 แสนตัน จากที่ผลิตในประเทศได้ 5 ล้านตัน ในรายที่ทำอาหารสัตว์อย่างเดียวไม่ได้เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ที่ต้องซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์จากเกษตรกร หรือจากพ่อค้าราคาสูง เวลานี้ลำบากมาก ระยะยาวหากแบกภาระขาดทุนไม่ไหวเลิกกิจการไป จะเหลือแต่บริษัทใหญ่ จะมาโทษกันไม่ได้” นายพรศิลป์ กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,860 วันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566