นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรามีสินค้า GI 177 รายการ สินค้า GI เป็นตัวที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าและมีคุณค่าสำคัญสำหรับภาคการผลิต ตั้งเป้ามูลค่าสินค้า GI ในปี 66 ที่ 50,000 ล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มมูลค่าด้วยสินค้า GI จะสะท้อนกลับไปที่ชุมชน ชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปช่วยพัฒนาควบคุมคุณภาพและหาช่องทางการตลาดที่จะโปรโมทสินค้า เพื่อดันให้ไปอยู่ในระดับมิชลิน
เพราะอาหารไทย เคยเสริฟร์ขึ้นโต๊ะในการประชุม APEC 2022 ถือว่า เผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารไทย สร้างการรับรู้สินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งต้องอาศัยอินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยในผลักดันให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า ร้านวรรณยุค ร้านอาหารไทยระดับ Fine Dining โดยในงานนี่ได้นำวัตถุดิบ GI ถึง 23 รายการมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารสุดพิเศษที่ผสมผสาน ความเป็นไทยและสากลได้อย่างลงตัว เช่น น้ำพริกลงเรือจากไข่เค็มไชยา หมูย่างมะขามเทศเพชรโนนไทย ขนมเบื้องญวนไชโป้วโพธาราม ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลาย่าง ยำปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุงใส่มะพร้าวอ่อน เนื้อโคขุนโพนยางคำเค็ม ยำเนื้อมังคุดเขาคีรีวง เป็นต้น ชูรสด้วยกระเทียมศรีสะเกษ หอมแดงศรีสะเกษ และพริกไทยจันท์
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เป้าหมายการส่งเสริมสินค้า GI ไทยในปี 2566 กระทรวงพร้อมเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอีก 20 สินค้า เร่งรัดคำขอขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 15 สินค้า รวมถึงจัดงานส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทยตามแนวนโยบาย GI Plus
ไม่ว่าจะเป็น เผยแพร่อัตลักษณ์สินค้า GI ผ่านเมนูอาหารไทย พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย ส่งเสริมแหล่งผลิตสินค้า GI ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการดึงทรัพยากรที่มีศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน