“สมชวน” ตั้ง 3 รองอธิบดี เป็นมิสเตอร์ปศุสัตว์ แก้ราคาผันผวน-ล้นตลาดฉับไว

13 มี.ค. 2566 | 02:00 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตั้งรองอธิบดี เป็นมิสเตอร์ ดูแลสินค้าปศุสัตว์ รายชนิด ทั้ง ไข่ไก่ ไก่เนื้อ หมู โคเนื้อ โคนม ติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด แก้ราคาผันผวน-ล้นตลาด ระบุช่วยเกษตรกรได้ทันที สอดคล้องความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อดีตมิสเตอร์ไข่ไก่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมปศุสัตว์ ได้แต่งตั้งรองอธิบดี ทำหน้าที่เป็นมิสเตอร์ ดูแลรับผิดชอบภาคปศุสัตว์แต่ละชนิดตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งการติดตามสถานการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด  การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก

ทั้งนี้หน้าที่ของแต่ละคนจะรับผิดชอบแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทางไปจนถึงปลายทาง โดยการทำงานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ไปจนถึงผู้ส่งออก  ซึ่งจะทำให้สามารถดูแลราคาสินค้าปศุสัตว์ในแต่ละช่วงเพื่อทำให้เกษตรกรมีความคุ้มทุน และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล

สำหรับ“มิสเตอร์ไข่ไก่ “ และ "มิสเตอร์ไก่เนื้อ”  ได้แก่ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดี และยังควบตำแหน่งในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ ด้วย ซึ่งปัจจุบันได้เร่งแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด  เนื่องจากสภาพอากาศที่ดีก่อนหน้านี้ ส่งผลแม่ไก่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จึงมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดมากขึ้น จึงมีมาตรการส่งออก ปลดแม่ไก่  และผนึกกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ในการกว้านไข่ไก่ส่วนเกินส่งโรงงานแปรรูป เวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณบวก ราคาไข่ไก่ไม่น่าจะลงแล้ว 

 

 

นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ

ส่วน “มิสเตอร์โคเนื้อ-โคนม” เป็น นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ ที่หลายคนเริ่มคุ้นตามากขึ้น ในฐานะแม่ทัพที่ผ่าตัดโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน 1.4 หมื่นล้านบาท ที่ปีนี้เป็นปีที่ 30 และมีหลักเกณฑ์การเข้าร่วมที่เข้มข้นขึ้น ใครไม่มีน้ำนมดิบอยู่ในมือ  เสี่ยงหลุดโควตาสูง ปิดตำนานเสือนอนกิน

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล

ปิดท้าย “มิสเตอร์หมู” หรือ “มิสเตอร์สุกร” เป็น นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์  โยธคล  ล่าสุด ( 7 มีนาคม 2566 )  ได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนาด้านสุกร ครั้งที่ 1/2566 มีการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปริมาณจำนวนสุกร  สถานการณ์การผลิตและการตลาดในสุกร,สถานการณ์โรค และร่างแผนยุทธศาสตร์สุกร และประกาศหลักเกณฑ์การลงสุกรเลี้ยงใหม่ เพื่อรับทราบข้อมูลและพิจารณาข้อดำเนินการที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลให้การจัดการสุกรครบวงจรของประเทศไทย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้บริโภคต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ต้องจับตาบทบาทการทำงานของ 3 รองอธิบดีกรมปศุสุสัตว์ ในฐานะ มิสเตอร์ปศุสัตว์ จะเข้มข้นและสานต่อนโยบายอธิบดีฯได้ด้วยความรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม และมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ในการดำเนินการอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ ต้องติดตาม