นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดการประชุมและได้มีการแลกเปลี่ยนกับสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 มีนายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน มาให้ความรู้และประสบการณ์การต่อสู้ของชาวไร่อ้อยที่มีเข้มแข็ง ต้องใช้ความอดทน และใช้เวลายาวนานกว่าที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็ง
"มามองที่กลุ่มเรา จะต้องมีตัวแทนเพื่อไปหารัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวงในการแต่งตั้งคณะกรรมการมะพร้าวแห่งชาติ ในที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ที่ต้องแยกตัวออกจาก คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เพราะในคณะกรรมการนี้มีสินค้าหลายชนิด ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งในคณะนั้นจะประกอบด้วยคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐ โรงงาน และเกษตรกร"
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า นายบารมี ให้คำแนะนำว่า ตัวแทนของเกษตรกรให้มาจากการเลือกตั้งจากพี่น้องชาวสวนมะพร้าวทั้งประเทศ และในคณะกรรมการ เกษตรกรควรจะมีตัวแทนมากกว่าฝ่ายอื่น ซึ่งในเบื้องต้นจะได้มีทิศทางในการที่จะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์มะพร้าวว่าจะไปในทิศทางไหน เมื่อไรที่จะอนุญาตให้นำเข้าได้เพื่อป้องกันมะพร้าวในประเทศราคาตก เป็นต้น ในลักษณะคล้ายกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายดูแลผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย และโรงงานที่เป็นธรรม
"ในส่วนของชาวไร่อ้อย เขาสามารถกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้าจากโรงงานก่อนฤดูกาลเปิดหีบ แต่กว่าจะเข้มแข็งเหมือนทุกวันนี้ก็ผ่านความยากลำบากมาไม่น้อย ก็ขอให้อดทน แล้วก็ขอให้เริ่มขยับความเคลื่อนไหว ทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องมาจากความเสียสละและเข้มแข็ง ส่วนสมาคมชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการที่เกษตรกรช่วยหักค่าอ้อยโดยโรงงานเป็นผู้หัก โดยจำนวนที่หักนั้นจะนำมาเป็นค่าบำรุงในการขับเคลื่อนของสมาคม"
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของมะพร้าว สามารถขอคืนภาษี หรือจะเก็บภาษีจากการส่งออกให้คืนมาในรูปของการอุดหนุนให้กับกลุ่มกับสมาคมชาวสวนมะพร้าวได้ ซึ่งเบื้องต้นทำได้ โดยเริ่มต้นที่จะร่าง พ.ร.บ.มะพร้าว ที่จะใช้หลักการเดียวกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยว่าต้องการ พ.ร.บ.มะพร้าว พ.ศ. .... ในรูปแบบใด หากร่างเสร็จแล้ว พรรคการเมืองไหนที่จะช่วยเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวก็ยินดีเปิดโอกาสพร้อมเทคะแนนให้ด้วย
อนึ่ง "มะพร้าว" เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรโลก เป็นพืชยืนต้นที่มีอายุนานนับร้อยปีหรือเป็นพืชบรรพบุรุษที่เป็นมรดกทั้งต้นมะพร้าวและพื้นที่ที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จนได้รับการขนานนามว่า พืชแห่งชีวิต (Tree for life) เป็นพืชสารพัดประโยชน์จากทุกส่วนของต้น เป็นที่มาของปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่โบราณ
สำหรับประโยชน์ของมะพร้าวจากส่วนต่าง ๆ เช่น ยอดอ่อนใช้เป็นอาหาร จั่นมีน้ำหวานทำน้ำตาล หมักทำเหล้าและน้ำส้ม ผลอ่อนทานสด เนื้อมะพร้าวจากผลแก่ใช้ปรุงอาหารและขนม และสกัดน้ำมัน กากที่เหลือเลี้ยง สัตว์ เส้นใยจากเปลือกมะพร้าวทำเชือก วัสดุทำเบาะและที่นอน
ส่วนขุยมะพร้าวทำวัสดุเพาะชำ กะลาทำภาชนะ เครื่องดนตรี ทำเชื้อเพลิง และถ่านกัมมันต์ (มีคุณสมบัติในการดูดซับสูง) ใบใช้มุงหลังคา เครื่องจักสาน ลำต้นใช้ในการก่อสร้าง เครื่องเรือน รากใช้ทำยา สีย้อมผ้า อย่างไรก็ตาม มะพร้าวโดยทั่วไปจะนำเอาเนื้อประกอบอาหารและสกัดน้ำมัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูก ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ และในแต่ละปีมีความผันผวนด้านราคา มีคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำกับดูแลตาม “ยุทธศาสตร์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ. 2560–2579”