นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมฯ มีการเข้มงวดและติดตามการนำเข้ามะพร้าวอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ปัจจุบันมีการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ WTO และ AFTA เท่านั้น ดังนี้กรอบ WTO ในโควตากำหนดปริมาณนำเข้าไม่เกินปีละ 2,317 ตัน ภาษี 20% ให้นำเข้าเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ และกันยายน – ธันวาคม
และนอกโควตาไม่จำกัดปริมาณ ภาษี 54% ซึ่งการนำเข้าทั้งในและนอกโควตาผู้นำเข้าสามารถจ้างกะเทาะนอกโรงงานได้ แต่ต้องจัดทำทะเบียนเครือข่ายผู้กะเทาะมะพร้าว (รายย่อย) พร้อมให้ข้อมูลทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งที่รับมะพร้าวไปกะเทาะ
และรายงานให้พาณิชย์จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบย้อนกลับกับเอกสารใบขนย้ายมะพร้าว เพื่อป้องกันไม่ให้มะพร้าวนำเข้าหมุนเวียนในตลาดภายในประเทศ โดยล่าสุดกรมฯ จะขอความร่วมมือผู้นำเข้าให้ชะลอการนำเข้าทั้งในและนอกโควตา
กรอบ AFTA การนำเข้าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดยต้องนำเข้าเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันพืชหรืออาหารคนในกิจการตนเอง ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ ห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน ต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาว และให้นำเข้าช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ และกันยายน – ธันวาคม ทั้งนี้ ระหว่างเดือนกันยายนถึงสิ้นปี 2565 จะไม่มีการนำเข้า
ทั้งนี้การนำเข้ามะพร้าวทั้ง 2 กรอบ ต้องนำเข้า ณ ด่านสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า
สำหรับการนำเข้ากรอบ AFTA ช่วงแรกปี 2566 กรมฯ จะผลักดันให้การพิจารณานำเข้ามีความสมดุลกับผลผลิต และการใช้ภายในประเทศ โดยหากมีความจำเป็นต้องนำเข้า กรมฯ พร้อมที่จะกำกับดูแลและตรวจสอบการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะประเด็นห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน
ปัจจุบันราคามะพร้าวผลในประเทศเริ่มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตในประเทศเริ่มลดลง โดยราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั่วประเทศ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 10.10 บาทต่อผล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.33 บาทต่อผล ที่ขายได้ 9.77 บาทต่อผล