วันที่ 15 มีนาคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังจาก นายซูซูกิ โยชิฮิสะ (SUZUKI Yoshihisa) และ ดร.ซูซูกิ จุน (SUZUKI Jun) ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น–ไทย (Japan –Thailand Trade and Economic Committee) ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และคณะ เข้าหารือยุทธศาสตร์การค้า และนโยบายขยายการลงทุนของไทย
พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเย็นวานนี้ (14 มี.ค.66)
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ที่เรียกว่า เคดันเรน ได้นำคณะหารือกับตน ในความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนกับไทย เพราะญี่ปุ่นมาลงทุนในอาเซียน 14,846 บริษัท ซึ่งมาลงทุนในไทยถึง 6,000 บริษัท
"ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรามาก และไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนักลงทุนญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนกับสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่าการค้าร่วมกันถึง 2 ล้านล้านบาท และไทยส่งออกไปญี่ปุ่นปีที่แล้ว 8.55 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งของไทย"
ประเด็นที่หารือ คือ ความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนของ 2 ฝ่าย สำหรับระดับทวิภาคี มีกรอบ JTEPA (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์ในการลดภาษี เปิดตลาดการค้าบริการ และ การลงทุนระหว่างกัน
ในระดับพหุภาคี ไทยกับญี่ปุ่น เป็นสมาชิก RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ซึ่งปัจจุบันเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไทย-ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าขับเคลื่อน RCEP ด้วยกันให้ได้รับประโยชน์ทางการค้าการลงทุนสูงสุด และมีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งไทยกับญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนสำคัญ และยังมีเอเปคที่เป็นสมาชิกร่วมกัน
“เรามีความร่วมมือที่ใกล้ชิดทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี และตนเชิญญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย เรามีทั้ง EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นสามารถเลือกลงทุนในไทยได้โดยสิทธิพิเศษ BOI (Board of Investment หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) จะเป็นกลไกหลักให้ความดูแลสนับสนุน”
และญี่ปุ่นมองว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญทางการผลิตและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตให้กับญี่ปุ่นต่อไปในอนาคตนอกจากจีน ทั้งเรื่องอาหาร อุตสาหกรรม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าไก่จากเราอันดับ 1 ปีละกว่า 3 แสนตัน รวมทั้งวัตถุดิบชีวภาพเอาไปทำพลังงานในญี่ปุ่น เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากนี้ทางญี่ปุ่นจะมาประชุมกับ กกร.ของไทย(คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) จะเป็นประโยชน์ในความส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเอกชนไทยกับญี่ปุ่นนอกจากภาครัฐที่มาพบตนวันนี้