กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จัดการประชุม “กำหนดความต้องการใช้ข้าวปีการผลิต 2566/67” ตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ( 10 มี.ค. 66) มีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานเพื่อวางแผนการบริหารจัดการข้าวโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต และวางแผนการผลิตข้าวให้เกิดความสมดุลกับความต้องการของตลาด และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
โดยมีองค์กรด้านข้าวเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรทำนาปี หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เบื้องต้นคาดความต้องการใช้ข้าวเพื่อบริโภคภายในของปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5.7 ล้านตัน (กราฟิกประกอบ) จากปี 2565/66 อยู่ที่ 5.6 ล้านตันข้าวสาร
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในที่ประชุมครั้งนี้ได้มีกำหนดทิศทาง และปริมาณการใช้ข้าวตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เพื่อให้ชาวนารับทราบว่าตลาดต้องการข้าวพันธุ์ใด เพื่อได้ไม่ปลูกข้าวอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งจะส่งผลทำให้ขายข้าวได้ในราคาตํ่า ขณะที่จากข้อมูลพบว่า อัตราการบริโภคข้าวของคนไทยตํ่าสุดในรอบ 7 ปี โดยในปี 2558-2561 คนไทยมีอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ย 90-100 กิโลกรัม(กก.) ต่อคนต่อปี เทียบกับปี 2565-2567 คาดการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 75.65 กก.ต่อคนต่อปี
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการบริโภคข้าวของแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความต้องการใช้ข้าวในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 30-40% คาดมีความต้องการใช้ประมาณ 4 ล้านตันข้าวสาร เพื่อใช้ในการแปรรูป อาทิ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมไทย ขนมขบเคี้ยว แอลกอฮอล์ เครื่องดื่ม นํ้ามันรำข้าว และเครื่องสำอาง ส่วนอาหารสัตว์ ใช้ปลายข้าว เป็นส่วนผสมในอาหารหมูขุน หมูพันธุ์ เป็ดเนื้อ เป็ดพันธุ์ และเป็ดไข่ (ฟาร์ม) เพื่อใช้ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์
เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และกาก DDGS โดยมีความต้องการถึง 1.706 ล้านตันข้าวสาร อย่างไรดี ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขาดแคลน แม้กระทรวงพาณิชย์จะเปิดให้นำเข้าแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 แต่เกิดความไม่สะดวกในการนำเข้าจากเมียนมา จากปัญหาการสู้รบของกองกำลังเมียนมากับชนกลุ่มน้อยตามขอบชายแดน เช่นเดียวกับข้าวสาลี แม้จะนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงต้องดำเนินตามมาตรการควบคุมการนำเข้า 3:1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน)
สอดคล้อง นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่าปีนี้ดูแล้วนํ้าท่าอุดมสมบูรณ์ ตัวเลขผลผลิตข้าวคาดมากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่การใช้ข้าวเพื่อบริโภค และใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขความต้องการใช้ข้าวที่ประกาศน่าจะมีความใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง ส่วนราคาข้าวในประเทศคาดดีกว่าปีที่แล้ว แต่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน อาจส่งผลต่อข้าวนาปรังที่ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวมีปริมาณลดลง
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า การส่งมอบข้าวต่างประเทศช่วงเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ ของปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)เก่าจากปีที่ผ่านมา ส่วนออร์เดอร์ใหม่ยังมีเข้ามาไม่มาก จากผลกระทบค่าเงินบาทไทยผันผวนในทิศทางแข็งค่าในช่วงต้นปี กระทบต่อการรับออร์เดอร์และต้องตั้งหลักกันใหม่ และยังต้องลุ้นว่า ข้าวใหม่ในปีนี้จะขายได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตามในส่วนของข้าวขาวมีสัญญาณค่อนข้างดีจากยังมีความต้องการสูงพอสมควรจากตลาดอิรักและฟิลิปปินส์ที่มีการซื้อข้าวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ต้องการสำรองข้าวในประเทศเพิ่ม โดยยังมีความต้องการในกลุ่มของข้าวขาวค่อนข้างมาก แต่ข้าวชนิดอื่น ๆ อาทิ ข้าวนึ่งค่อนข้างชะลอลงทุกปี และเร่งขึ้นค่อนข้างยาก เนื่องจากคู่แข่งสามารถทำราคาได้ดีกว่า ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวที่ 8 ล้านตันยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสามารถทำได้ ขอยึดตัวเลขใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 7.5 ล้านตัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,871 วันที่ 19-22 มีนาคม พ.ศ. 2566