ขอ ICC ช่วยตีฆ้อง มะพร้าวไทยปลอดใช้แรงงานลิง

28 มี.ค. 2566 | 11:17 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2566 | 11:32 น.

กรมวิชาการเกษตร หารือคณะเลขาธิการ ICC เตรียมความพร้อมจัดประชุมใหญ่ ไทยเป็นเจ้าภาพ 8-10 พ.ย. เล็งเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนอุตสาหกรรมมะพร้าว “ระพีภัทร์”ขอช่วยประชาสัมพันธ์มะพร้าวไทยปราศจากใช้แรงงานลิง

รายงานข่าว (28 มี.ค.66) นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ให้การต้อนรับ นางเจลฟินา ซี อะลูว์ เลขาธิการชมรมมะพร้าวนานาชาติ  (International Coconut Community : ICC) และเจ้าหน้าที่บริหารการเงินของชมรมฯ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือกระบวนการผลักดันการใช้เครื่องหมาย GAP MFP (GAP Monkey Free Plus) และการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ เพื่อยืนยันว่าผลิตมะพร้าวไทยทั้งหมดปราศจากการใช้แรงงานลิง ไม่ใช่ตามที่สมาคม PETA กล่าวหา

นอกจากนี้ยังมีการหารือการเตรียมความพร้อมในการประชุมประจำปี 2566/67 ของคณะผู้บริหารชมรมฯ ICC Session/Ministerial Meeting ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 และเสนอแผนงานและกิจกรรม ICC ตลอดปี 2566 ตลอดจนหารือแนวทางเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของอุตสาหกรรมมะพร้าว

ขอ ICC ช่วยตีฆ้อง มะพร้าวไทยปลอดใช้แรงงานลิง

ทั้งนี้ชมรมมะพร้าวนานาชาติ เดิมชื่อชมรมมะพร้าวแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCC)  ก่อตั้งเมื่อปี 1964  ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันอายุครบ 59 ปี มีสมาชิก 20 ประเทศ รวมจาเมกา กุยานา และเคนยา ที่อยู่นอกเอเชียและแปซิฟิก แต่ละปี ICC จะมีแผนการดำเนินการในรอบปี เช่น การจัดประชุม อบรม สัมมนา และกิจกรรมด้านมะพร้าวให้กับประเทศกลุ่มสมาชิก

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

นายระพีภัทร์ เผยว่า  ได้ขอให้ ICC ช่วยประชาสัมพันธ์ การขับเคลื่อนมาตรการตรวจรับรองแปลง GAP Monkey free plus  รวมทั้งผลักดันการใช้เครื่องหมาย GAP MFP (GAP Monkey Free Plus) และการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ รวมถึงประชาสัมพันธ์ถึงสถานทูตต่าง ๆ โดย ICC แจ้งว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการย่อยของ ICC เพื่อหารือเรื่องนี้เป็นพิเศษในสัปดาห์หน้าเพื่อยืนยันว่าผลิตมะพร้าวไทยทั้งหมดปราศจากการใช้แรงงานลิง ซึ่งปัจจุบันมีแปลงที่ผ่านการตรวจประเมิน GAP MFP เป็นแปลงมะพร้าวแกง 1,372 แปลง รวมพื้นที่ 13,546 ไร่ และ แปลงมะพร้าวอ่อน 533 แปลง รวมพื้นที่ 6,597 ไร่ มีเป้าหมายจะตรวจให้ครอบคลุม แปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP แล้วอีกประมาณ 4,526 แปลง 47,125 ไร่ และตรวจให้เกษตรกรและเกษตรกรที่ผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์ไว้ภายในเดือน กันยายน 2566 นี้

สำหรับ ICC ให้ความสำคัญกับ แนวทางส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าว การส่งเสริมอุตสาหกรรม และการปลูกทดแทนประชากรมะพร้าวอายุมาก ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม แผนกลยุทธมะพร้าวที่ได้มีการประชุมของคณะทำงาน TWG ทุกปี ประเทศไทยมีแนวทางการดำเนินการในหลายมิติตามแผนนี้ กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการปรับปรุงพันธุ์-ผลิตพันธุ์มะพร้าว และส่งเสริมการปลูกทดแทน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในเชิงนโยบายกับประเทศสมาชิก ICC ในการประชุมประจำปี

ขอ ICC ช่วยตีฆ้อง มะพร้าวไทยปลอดใช้แรงงานลิง

โดยในการประชุมมะพร้าวโลก ในปี 2565 ที่มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพ ที่ประชุม ICC มีการคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ มีการอภิปราย และ บรรยายในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ตรงกับการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นแกนหลักในโครงการริเริ่มคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรของประเทศไทย  โดยจับมือกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  อบก. จัดทำ MOU ร่วมกัน  เพื่อพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต T-Ver นำร่องในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน และมะม่วง  

 “กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเส้นฐานคาร์บอนเครดิตระดับประเทศ  และต้องการพัฒนาศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร จึงขอให้ทาง ICC บรรจุการอบรมเรื่องนี้ไว้ในกิจกรรมของ ICC ในปีต่อไปด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว