เศรษฐกิจไทยเสี่ยง ส่งออกส่อติดลบ 9 เดือนรวด!

08 เม.ย. 2566 | 01:28 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 01:50 น.

เศรษฐกิจไทยเสี่ยง ส่งออกส่อติดลบ 9 เดือนต่อเนื่อง จับตาแบงก์ล้ม-แบงก์รัน ปัจจัยลบใหม่ ฉุดเศรษฐกิจมะกัน-โลกยิ่งชะลอตัว สรท.สั่งผู้ประกอบการจับตาใกล้ชิด คู่ค้าผิดนัด-เลื่อนชำระค่าสินค้า แนะรับออร์เดอร์ใหม่ต้องขอวางมัดจำ 20-30% เตรียมปรับคาดการณ์ส่งออกใหม่ พ.ค.นี้

ภาคการส่งออกไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา (ปี 2565 ภาคส่งออกมีสัดส่วนต่อจีดีพีไทย 55% )มีอาการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด มูลค่าส่งออก 5 เดือนล่าสุด (ต.ค.65-ก.พ.66)ยังติดลบต่อเนื่อง (กราฟิกประกอบ) มีปัจจัยหลักจากภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ฉุดเศรษฐกิจและกำลังซื้อของทุกประเทศชะลอตัว มีผลต่อการนำเข้าสินค้าที่ลดลง ขณะปรากฏการณ์แบงก์ล้ม และคนแห่ถอนเงินฝาก (แบงก์รัน)ในสหรัฐฯและยุโรป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อการส่งออกของไทยไป 2 ตลาดใหญ่นี้ที่ยังต้องจับตามอง

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1 /2566 สาเหตุมาจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปในไตรมาสแรกของปีนี้ถูกซํ้าเติมจากปัญหาธนาคาร Silicon Valley (SVB Bank) ธนาคาร Signature และธนาคาร Silvergate ในสหรัฐ ฯล้ม(จากเดิมสหรัฐฯและยุโรปมีประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูง และราคาสินค้ายังสูงอยู่แล้ว) จะส่งผลต่อตัวแปรเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะปรับตัวลดลงคือการบริโภคของประชาชน ซึ่งจะดึงเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ลดลงตามไปด้วย

เศรษฐกิจไทยเสี่ยง ส่งออกส่อติดลบ 9 เดือนรวด!

“คำถามคือ เศรษฐกิจโลกในปี 2566 ที่ IMF คาดจะขยายตัว 2.9% (ณ ม.ค. 66)จะลดลงมากกว่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับธนาคารในสหรัฐฯและยุโรปจะสะเทือน หรือจะมีธนาคารอื่น ๆ ที่มีปัญหาตามมาอีกหรือไม่ หากลุกลามไปที่ธนาคารอื่นล้มเพิ่ม จะส่งผลต่อการลดลงของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลก แต่เบื้องต้นเรื่องนี้มีผลต่อการส่งออกบ้าง แต่ยังไม่มากนัก เพราะปัญหาสถาบันการเงินที่เกิดขึ้น ธนาคารกลางของสหรัฐฯและยุโรปสามารถหยุดปัญหาได้พอสมควร แต่จะลุกลามไปมากแค่ไหนต้องดูในไตรมาสที่ 2”

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

 อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกไทยต้องพร้อมรับมือในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ 1.ต้องเฝ้าระวังและติดตามตลาดสหรัฐฯ และยุโรปอย่างใกล้ชิดกับการชะลอตัวของการบริโภค 2.ระวังค่าเงินผันผวน 3.ระวังต้นทุนการผลิต และ 4.ใช้นวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าส่งออก จากส่งออกไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเดิมที่ยังมีอยู่ ที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุดใน 5 อันดับแรกได้แก่

1.เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว 2.สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต 3.ค่าเงินผันผวน 4.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-ไต้หวัน สหรัฐฯและพันธมิตรกับจีน และ 5.กำลังซื้อในประเทศจีนที่อาจจะไม่เป็นตามที่คาดการณ์ ดังนั้นทางศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศจึงคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ 2.5-2.9% เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-3.5% และส่งออกไทย -0.5% ถึง 1.5%

ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปรากฏการณ์แบงก์ล้ม-แบงก์รัน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก แต่เบื้องต้นเท่าที่ได้สอบถามคู่ค้าในสหรัฐฯส่วนใหญ่ระบุกรณี SVB Bank ล้ม ยังไม่ส่งผลกระทบ เพราะผู้ที่ใช้บริการแบงก์นี้จะเป็นบริษัทสตาร์ทอัพเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามจากที่มูดี้ส์ สถาบันการจัดอันดับเครดิตระดับโลก ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของหลายธนาคาร ต้องติดตามว่าผลต่อเนื่องจากนี้จะเป็นอย่างไร

ชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

 “ระยะสั้นเรื่องแบงก์ล้ม และแบงก์รันที่เป็นเรื่องจิตวิทยา ยังไม่เห็นผลกระทบต่อส่งออกของไทย แต่ระยะกลางคงต้องรอดูเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่ ในอัตราเท่าใด จากรอบล่าสุดปรับขึ้นเพียง 0.25% ซึ่งเฟดคงกลัวว่าถ้าปรับดอกเบี้ยสูงท่ามกลางวิกฤติแบงก์ล้มอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน แต่ผลที่อาจตามมาคือคุมเงินเฟ้อสูงไม่อยู่ ทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ซึ่งสรท.คาดการณ์ส่งออกไทยในไตรมาสแรกจะติดลบ 8% และในไตรมาส 2 จะยังติดลบต่อเนื่อง แต่จะติดลบน้อยลงจากไตรมาสแรก สรท.จะทบทวนคาดการณ์ส่งออกปีนี้ใหม่ช่วงเดือนพฤษภาคม จากคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้จะขยายตัวที่ 1-2%”

 สำหรับข้อแนะนำผู้ส่งออก เพื่อรับมือกับตลาดการเงินและค่าเงินในตลาดโลกผันผวน ได้แก่ 1.ต้องติดตามการชำระเงินค่าสินค้าของคู่ค้าว่าชำระตรงตามเวลา มีการผิดนัดชำระ หรือขอเลื่อนการชำระหรือไม่ 2.เวลารับคำสั่งซื้อต้องให้คู่ค้าวางเงินมัดจำล่วงหน้า 20-30% เพื่อป้องกันขอเลื่อนการส่งมอบ หรือยกเลิกออร์เดอร์ ต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับความผันผวนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงติดตามอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อวางแผนเจรจาทำข้อตกลงการซื้อขายสินค้า โดยภาคส่งออกเห็นว่าระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม และสินค้าไทยแข่งขันได้อยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ