เกษตรกร 5 จังหวัด ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดเผาผลผลิตดีขึ้น

10 เม.ย. 2566 | 10:09 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2566 | 10:15 น.

เกษตรกร 5 จังหวัด ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดเผา ผลผลิตดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์  “ไม่เผา ไม่เขา เราซื้อ”

เกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน จ.ชัยนาท จ.กาญจนบุรี จ.ขอนแก่น จ.นครสวรรค์ จ.สระแก้ว และ จ.เพชรบูรณ์ โชว์ความสำเร็จในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยวิธีการไถกลบตอซังหลังเก็บเกี่ยวแทนการเผา มีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก รักษาธาตุอาหารในดิน ช่วยลดค่าใช้จ่าย เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นใจผลิตสินค้าสอดคล้องความต้องการตลาด พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้การยกระดับการเพาะปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ลดฝุ่นละออง ช่วยให้สิ่งแวดล้อมชุมชนดีขึ้น สอดคล้องตามนโยบาย “ไม่เผา ไม่เขา เราซื้อ”

นายสมควร บอกดำเนิน เกษตรกรต้นแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลาดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หันมาให้ความสำคัญกับแหล่งปลูกเป็นพื้นที่ไม่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และไม่ใช้วิธีการเผาตอซังมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มของผู้บริโภคใส่ใจสินค้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

เกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตอาหาร จึงจำเป็นต้องมีความรู้ในการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิต เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงนำความรู้จากการเข้าร่วมโครงการกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และ บริษัท สวนสมบูรณ์ จำกัด ในการผลิตข้าวโพดที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มาแบ่งปันให้กับเพื่อนเกษตรกรได้มีการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และที่สำคัญสนับสนุนวิธีไถกลบแทนการเผาหลังเก็บเกี่ยว ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการเพาะปลูกและต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน 

                     เกษตรกร 5 จังหวัด ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดเผาผลผลิตดีขึ้น

“การไถกลบตอซังข้าวโพด เป็นแนวทางที่เกษตรกรปลูกข้าวโพดในอ.สรรบุรี จ.ชัยนาท ยึดมาตลอดทดแทนการเผา เพราะช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ดินมีธาตุอาหารและความชื้นที่ช่วยผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้น ช่วยลดการใช้ปุ๋ย และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5 คุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนดีต่อเนื่อง” นายสมควร กล่าว  

นายสมควร เป็นเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมลงทะเบียนตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อยืนยันว่า ข้าวโพดเพาะปลูกบนแปลงที่ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า

        เกษตรกร 5 จังหวัด ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดเผาผลผลิตดีขึ้น

และไม่ใช้วิธีการเผาหลังเก็บเกี่ยว และแบ่งปันความสำเร็จในการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่เกษตรกรที่สนใจ เพื่อเป็นหลักประกันให้ผลผลิตมีตลาดรับซื้อที่กำหนดราคาตามความเป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกที่ปลอดการเผา