ย้อนไปก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 การพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมาเป็นการกำหนดนโยบายโดยทางราชการ มิได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และการประกอบเกษตรกรรมของตนเอง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นจะต้องจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบในการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและเป็นอิสระ จนกระทั่งในปี 2544 ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรอันเนื่องจากโครงการส่งเสริมของรัฐที่ไม่ประสบผลสำเร็จให้มีการดำเนินงานขึ้นทะเบียนหนี้และชำระหนี้แทนเกษตรกร ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 23 และมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานกรรมการบริหารฯ คนที่ 1 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันได้จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และรับฟังความคิดเห็นไปเรียบร้อย 4 ภาค เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ไม่เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้จะมีการตั้ง “สถานีพักหนี้” คือบริษัทบริหารสินทรัพย์ จากที่ผ่านมาเมื่อสถาบันเจ้าหนี้ เกิดหนี้เสีย จะต้องทำตามกฎกติกาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจำเป็นต้องจำหน่ายหนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะทำให้สถิติลูกหนี้เสียเพิ่มขึ้น
“ที่ผ่านมาสถาบันการเงินมักตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์เอง โดยการเอาหนี้ที่เป็นหนี้เสียไปทำการจำหน่าย ทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเพื่อทำการค้าเอากำไร ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติที่มาตั้งดำเนินการเอาทรัพย์สินของเกษตรกรไปเล่นแร่แปรธาตุไปเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ทำให้กระบวนการจัดการยุ่งยากขึ้น พอเรารู้วิธีการแบบนี้ ท้ายที่สุดสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะต้องไปตามซื้อหนี้ในลักษณะแบบนี้ทำให้เกิดมีขั้นตอนยุ่งยากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าทำไมกองทุนฯ ถึงไม่ทำสถานีพักหนี้ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์กองทุนฟื้นฟูเสียเองคือไปตั้งบริษัทลูกตามกฎหมายมาตรา 8 ที่เปิดโอกาสให้สำนักงานฯ กระทำได้”
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อหนี้มาไว้ก่อน เหตุเพราะว่าเวลาเจ้าหนี้ขายหนี้ที่ขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ขายไปในราคาที่ถูก คือ 30% ของเงินต้น จะปล่อยให้กับบุคคลอื่นได้ง่าย เป็นการค้ากำไร ให้นึกภาพแค่ขาย 50% บริษัทเหล่านี้ก็มีกำไรส่วนต่าง 20% แต่พอเจ้าหนี้จะขายมาให้กองทุนฯ ก็คิดอีกราคาหนึ่งแตกต่างจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ เช่น หากขายให้กับกองทุน ในกรณีทรัพย์ ไม่คุ้ม ขายอีกราคาหนึ่ง หากคุ้มไม่ขาย แต่พอจะขายให้กับบริหารสินทรัพย์ไม่มาพิจารณาตรงนี้เลยขายทุกรายการในราคา 30% ต่อไปถ้าบริษัทบริหารสินทรัพย์กองทุนฟื้นฟู ตั้งขึ้นแล้ว ชาวบ้านก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น นี่คือที่มาของการแก้กฎหมายในครั้งนี้
“เมื่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์กองทุนฟื้นฟูฯขึ้นแล้ว ต่อไปหนี้เกษตรกร จะถูกจัดการ 2 กรณี หากมีทรัพย์ จะถูกขายให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ไปซื้อกับเจ้าหนี้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร/สหรกรณ์/ธ.ก.ส. จะนำมารวมเป็นสถานีพักหนี้ก่อน ในราคา 30% ของมูลหนี้แต่ละก้อน แต่สำนักงานก็จะมีค่าบริหารจัดการโดยจะไปซื้อกับเกษตรกรที่จะถูกนำที่ดินไปขายทอดตลาดให้กับบริษัทนายทุนต่างชาติมาซื้อ โดยเราก็จะไปเจรจาเพื่อซื้อต่อแล้วให้เกษตรกรผ่อนต่อในราคา 10% เท่านั้น”
นายยศวัจน์ ฉายภาพให้เห็นชัด โดยให้นึกภาพมีบ้าน 2 หลัง หลังที่ 1 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนหลังที่ 2 เป็นหลังใหม่คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เมื่อเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนหนี้ กับบ้านหลังที่ 1 ก็มาต่อคิว รองบประมาณเพื่อซื้อหนี้ กว่าจะได้ก็ทำให้ทรัพย์สินถูกขายทอดตลาด หลุดจากมือไปแล้ว จึงทำให้บริษัทบริหารสินทรัพย์มาสวมสิทธิ์ให้กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหม่ เพราะฉะนั้นช่วงจังหวะที่รองบประมาณกว่าจะเข้ามาที่กองทุน จึงเห็นว่าเอามาพักไว้ที่บ้านหลังที่ 2 ก่อน
โดยเริ่มแรกบริษัทบริหารสินทรัพย์กองทุนฟื้นฟูฯ จะจดทะเบียนและมีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท โดยให้สำนักงานกองทุนฯ ถือหุ้น 100% ก่อน หลังจากนั้นค่อยเทขายให้กับองค์กรเกษตรกรไป 90% เพื่อให้เป็นเจ้าของบริษัทฯ แทนที่ผลกำไรในการขายหนี้ขายทรัพย์สินจะตกไปอยู่ในมือนายทุนหรือต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ที่ได้กำไรไปมากก่อนหน้านี้
“ยกตัวอย่างวันนี้กำไรที่ขายให้กับองค์กรเกษตรกร หากมาลงทุนซื้อหุ้น 1 ล้านบาท บางปีอาจจะได้คืนกลับผลกำไร 1.1 ล้านบาท เพราะฉะนั้นสถานีพักหนี้บ้านหลังที่ 2 ได้เปรียบเพราะมีฐานข้อมูลจากบ้านหลังแรกมีแนวคิดว่าจะไปซื้อหนี้ ที่สมาชิกเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนหนี้ 5.43 ล้านราย มูลหนี้ 1.13 แสนล้าน แบบยกเข่งไม่ต้องซื้อทีละรายอีกต่อไปแล้ว”นายยศวัจน์ กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,879 วันที่ 16-19 เมษายน พ.ศ. 2566