ในจำนวนนี้การส่งออกทุเรียนสดมีมูลค่ามากสุด 110,144.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% และในมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดนี้ไทยส่งออกไปตลาดจีนมากสุด มูลค่า106,038.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% โดยผลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด)เป็นแหล่งใหญ่ที่ทำรายได้สูงสุด
ขณะที่ไม้ผลชนิดอื่นที่ภาคตะวันออกเป็นแหล่งปลูกที่สำคัญ เช่น มังคุด มีมูลค่าส่งออกปีที่ผ่านมา 13,534.90 ล้านบาท และเงาะ 434.56 ล้านบาท ดังนั้นแผนรับมือผลไม้ของภาคตะวันออกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในปีนี้
ล่าสุด นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลสรุปข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออกปี 2566 (ข้อมูล ณ 5 เม.ย.2566) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ ภาคตะวันออก สรุปตัวเลขเอกภาพปริมาณผลผลิตของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด)
โดยสรุปปี 2566 ปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด คาดจะมีจำนวน 1.05 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1.26 ล้านตัน (ลดลง 2.09 แสนตัน หรือลดลง 17%) โดยลองกอง ลดลงมากสุด รองลงมา มังคุด เงาะ และทุเรียน ตามลำดับ (กราฟิกประกอบ)
ปัจจัยหลักที่มีผลต่อผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดที่ลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 สลับกับอากาศหนาวเย็น ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล อีกทั้งได้รับผลกระทบจากลมพายุหลายรอบในช่วงเดือน ธ.ค. 2565 ถึงต้นเดือน เม.ย. 2566 ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย
อย่างไรก็ดี ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนก.ย. 2566 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือน เม.ย. 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไปต่อเนื่องถึงกลางเดือน พ.ค.2566 คิดเป็นร้อยละ 55 ของผลผลิตทั้งหมด
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2566 ทั้ง 3 จังหวัด ในส่วนของผลไม้ส่งออกสำคัญคือทุเรียนได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด
โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2566 พันธุ์ชะนี เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 และพันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2566 หากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนด ต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์นํ้าหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ จุดบริการ สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ
ในส่วนของล้งส่งออกต้องแจ้งด่านตรวจพืชจันทบุรี หรือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) จังหวัดจันทบุรี เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์นํ้าหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน มกษ. 3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) โดยกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์นํ้าหนักแห้งในเนื้อทุเรียนขั้นตํ่าของพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27% นํ้าหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30% นํ้าหนักแห้ง และ
พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 % นํ้าหนักแห้ง หากตํ่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งผู้ใดจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ จะใช้มาตรการทางการปกครองและมาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป
ทั้งนี้มาตรการคุมเข้มทุเรียนอ่อน ทั้งที่จำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออกถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐาน และชื่อเสียงทุเรียนไทยให้ยังคงมัดใจผู้บริโภคต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งทุเรียนและผลไม้ชนิดอื่น จากเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในแถบอเมริกาใต้ ดังนั้นคุณภาพและมาตรฐานเป็นเรื่องที่ต้องรักษาไว้อย่างดีที่สุด