สถานการณ์ราคายางพารายังมีความผันผวน ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้เห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการยางพาราของประเทศ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์” อดีตรองผู้ว่า กยท. ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ (ประธานบอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย คนล่าสุด ถึงวิสัยทัศน์ นโยบายและแผนเร่งด่วน ในการกอบกู้วิกฤติราคายางที่ลดลงเรื่อย ๆ
ดันอุตฯปลายนํ้า-สวนยางยั่งยืน
นายกวีฉัฏฐ กล่าวยอมรับว่า เรื่องราคายางพาราเป็นเรื่องที่หนักหน่วงพอสมควร ซึ่ง กยท. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจรก็ได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นรัฐบาลได้ทำไปแล้วในโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 4 ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่มีรายได้ของเกษตรกรลดลงจากรายได้ที่คาดว่าเกษตรกรควรจะได้รับและลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเกษตรกร ส่วนในแผนระยะยาวจะต้องทำผลิตภัณฑ์ปลายนํ้าให้ได้ ต้องมีการดึงต่างชาติมาลงทุนเพื่อเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ ผลต่อเนื่องที่จะตามมาคือรายได้จากภาษี การสร้างรายได้และสร้างงานให้กับชุมชน
“ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารามากสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่สิ่งที่เราขาดก็คือ การทำมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ขององค์การจัดการด้านป่าไม้ของโลกอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากในอนาคตสหภาพยุโรป(อียู)มีการตั้งกำแพงภาษีเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาไทยจะได้รับผลกระทบ แต่หากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่ายางมาจากไหน ไม่บุกรุกป่า จะส่งผลทำให้ราคาปรับตัวขึ้นมาในระดับหนึ่ง เชื่อว่ายางพารา FSC ราคาในตลาดโลกต้องสูงกว่าราคายางทั่วไป ดังนั้นหากไทยได้ทำก่อนคู่แข่งจะทำให้ได้แต้มต่ออย่างน้อย 3-5 ปี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ได้ปรึกษากับนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการฯ กยท. เพื่อเร่งปูพรมทำให้สวนยางของไทยก้าวสู่กติสากลโลกให้เร็วที่สุด”
ราคายางสูงภารกิจหิน
นายกวีฉัฏฐ กล่าวอีกว่า วันนี้ภาวะราคายางในตลาดโลกปรับตัวลง เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการควํ่าบาตรที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ สร้างแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อของโลกให้มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าของโลกยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ผลกระทบจากห่วงโซ่การผลิต อาทิ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชราคาแพง และแมลงศัตรู เหล่านี้เป็นปัญหาของเกษตรกร ซึ่งในฐานะที่ดูแลยางพาราและชาวสวนยางก็อยากทำให้ราคายางสูงที่สุดไม่ต่างจากความต้องการของเกษตกร ทั้งนี้สัญญากับชาวสวนยางทั่วประเทศว่าจะทำให้ดีที่สุด
“ก่อนหน้านี้ทุกคนทราบแล้วว่าผมได้เคยร่วมงานกับ การยางฯ ก็เห็นว่าองค์กรพยายามผลักดันช่วยเหลือเกษตรกร สนับสนุนช่วยเหลือกันตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็อยากให้ได้เยอะในส่วนโครงการรัฐ แต่ก็เข้าใจรัฐบาลด้วย เพราะฉะนั้นในส่วนที่รัฐบาลจัดสรรมาให้จะไม่ก้าวล่วง แม้จะชดเชย 2 เดือน จากที่เคยจัดสรรให้ 6 เดือน ในโครงการประกันรายได้ยางพารา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็จัดสรรให้อยู่ ก็อยากให้เข้าใจกัน เพราะมีหลายส่วนที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในส่วนอื่น ๆ ด้วย”
ลุย“SECri” ปลุกเศรษฐกิจใต้
ขณะที่นโยบายเร่งด่วนที่อยากขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องคือ “รับเบอร์วัลเลย์” (Rubber Valle) หรือ ปัจจุบันใช้ชื่อใหม่ โครงการจัดตั้งเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor of Rubber Innovation : SECri) มีพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของ กยท. ตั้งอยู่ที่อำเภอช้างกลาง และอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดพื้นที่ 37,020 ไร่ และมีพื้นที่ที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา หรือเป็นพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมยางพารา เพื่อพัฒนาต่อยอดกิจการและความเป็นอยู่ของชาวสวนยางพาราให้ดียิ่งขึ้น งบลงทุนสำหรับโครงการนี้ 8.8 หมื่นล้านบาท
โดยจะมีการนำร่องขนาดพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ก่อน พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ที่จะเปลี่ยนภาคใต้ตอนบนให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาค เกิดการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (จังหวัดใน SEC ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) หากโครงการดังกล่าวแจ้งเกิดได้ตามแผนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 6.8 แสนล้านบาท ส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราได้ 2 แสนล้านบาท และทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่ม 1.1 ล้านตันต่อปี สร้างงาน 45,000 คน
นอกจากนี้จะช่วยยกระดับรายได้ชาวสวนยาง 16,000-22,000 บาทต่อไร่ ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยจะมีศูนย์วิจัยโดยเฉพาะในเรื่องยางพาราเพื่อนำงานวิจัยไปต่อยอดในอุตสาหกรรมได้ เช่น สามารถทำเครื่องสำอาง เป็นต้น หรือในอนาคตยางพารา อาจจะแปรรูปเป็นอาหารได้ สิ่งเหล่านี้อยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะจะเป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมยางพารา และพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับชาวสวนยาง และทำให้องค์กรสถาบันเกษตรกรมีความยั่งยืน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,881 วันที่ 23-26 เมษายน พ.ศ. 2566