สืบเนื่องจากประกาศเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประกาศรายชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและปริมาณน้ำนมโค ที่สมัครเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงกรอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้ออกประกาศเรื่อง การรับแบบแสดงคุณสมบัติผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2566 และกำหนดวันและเวลาการรับแบบแสดงคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566
ประกอบคำสั่งกรมปศุสัตว์ ที่ 233/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบปริมาณน้ำนมโค ลงวันที่ 17 มีนาคม 2566 และคำสั่งกรมปศุสัตว์ ที่ 269/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบปริมาณน้ำนมโค (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยคณะทำงานตรวจสอบปริมาณน้ำนมโคได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในข้อ 2ตรวจสอบคุณสมบัติและปริมาณน้ำนมโคที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ยื่นแบบแสดงคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 เรียบร้อยแล้ว นั้น
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 ของประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จึงขอประกาศรายชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและปริมาณน้ำนมโคที่สมัครเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 มีทั้งหมด 95 ราย และมีอุทธรณ์ 18 ราย
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ (27 เม.ย.66) เวลาบ่ายโมงเป็นต้นไป นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพิจารณาการอุทรธรณ์ของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน ปีการศึกษา 2566 จำนวน 18 ราย ซึ่งหากปลัดเกษตรฯ พิจารณารับเรื่องการอุทธรณ์ หากรับก็ต้องมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการไปตรวจสอบ แต่ถ้าไม่รับอุทธรณ์ ทุกอย่างก็จะจบ เท่ากับ 18 รายต้องยอมรับผลการตรวจสอบปริมาณน้ำนมดิบของกรมปศุสัตว์ที่ได้ระบุไว้
“เห็นสถานการณ์แบบนี้ หากเป็นอย่างนี้ทุกปีคงไม่ไหว เพราะปัญหาทุกอย่างไม่จบสิ้น ครบ 1 ปี ก็มาเถียงกัน ทะเลาะกัน เป็นอย่างนี้ อยากให้เปิดประมูลเสรีไปเลย ทุกอย่างได้ราบรื่น ราชการก็ไม่เจ็บตัว เกษตรกรก็สบาย ทุกอย่างดีหมด นักเรียนก็ได้ดื่มนมมีคุณภาพ ใครมีน้ำนมดิบ มีโรงงานก็เข้ามาอยู่ในโครงการได้ เกษตรกรก็สบายใจเพราะมีน้ำนมดิบเอง มีศูนย์โรงงานแปรรูปน้ำนมดิบ ก็จะดูแลเกษตรกรได้”
นายวสันต์ จีนหลง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แมรี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยี่ห้อ “MMILK” กล่าวว่า ความจริงแมรี่แอนด์ ได้โควตาสูงสุดมาโดยตลอด จากรอบนี้ที่ถูกเปิดเผยว่าแต่ละรายใครได้เท่าไรในโควตานมโรงเรียน ปี 2566 เนื่องจากมีหลายสาขา ถ้าเอาทุกสาขามารวมกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปีที่แล้วปีนี้ได้น้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากได้มีการตัดภาคใต้เพื่อมาขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำคัญบริษัทมีปริมาณน้ำนมดิบจริง และผ่านการถูกตรวจสอบแล้ว
“ในระบบเดิมเป็นการกีดกัน จึงทำให้บริษัทได้รับจัดสรรโควตาได้น้อย แล้วถ้าใช้ระบบการตรวจสอบน้ำนมดิบจริงเราถึงไม่กลัว และวันนี้ที่เข้าได้ไม่ใช่เป็นการฟลุ๊ก เกิดจากตรวจสอบของกรมปศุสัตว์ และเชื่อว่าในรอบนี้เราถูกตรวจสอบเป็นพิเศษ และที่ผ่านมาไม่ออกความคิดเห็นใดใดทั้งสิ้นเพราะต้องเคารพกติกากระบวนการตรวจสอบก่อนจึงไม่ได้ร้องเรียน และเมื่อร้องเรียนมาตรวจใหม่ก็ไม่พอใจก็ไม่ให้ความร่วมมืออีก”
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังขา เนื่องจากในขณะนั้นรู้ได้อย่างไรว่าตรวจสอบออกมาแล้วได้ปริมาณน้ำนมดิบเท่านั้นเท่านี้ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการประกาศ และยังไม่เปิดให้อุทธรณ์ เป็นสิ่งที่คนในวงการตั้งข้อสังเกต นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกต อีกหลายประกาศ อาทิ ในประกาศบอกว่า 1.การได้รับจัดสรรโควตาไม่เกินโควตาเดิม แต่ทำไมบางรายได้โควตาเกินสิทธิ์ที่ตัวเองได้รับจากปีที่แล้ว (บางคนซื้อน้ำนมดิบเกินเอาไปไหน) 2.ประกาศระบุว่าจะต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน หลังจากปิดรับสมัคร
"วันนี้ระยะเวลาเกิน เป็นข้อพิรุธ ปิดบัง ซ่อนเร้น ไม่ให้รับรู้ แต่ทำไมคนบางกลุ่มถึงรู้ ถึงได้ไปอุทธรณ์ในตอนแรก 3. มีบางกลุ่มได้ขายไปนมพาณิชย์ไปแล้วทำไมยังนำมาเข้าโครงการได้อีก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์เสียหาย จึงทำให้ทุกคนไปเรียกร้องความเป็นธรรม และขยายเป็นวงกว้างถึง 18 ราย เนื่องจากไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และกระบวนการตรวจสอบขาดธรรมาภิบาล ไม่โปร่งใส่ จึงทำให้ทุกคนต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม"
นายอำนวย ทงก๊ก ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด กล่าวว่า ตนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนมโรงเรียนเท่าไร ไม่อยากทะเลาะ ต้องการเพียงแค่จะทำน้ำนมให้ดี ฝ่ายลูกน้องก็ให้ทำอุทธรณ์ ซึ่งเมื่ออุทธรณ์ไปแล้วก็ไม่ได้หวังว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้ ของเดิมมีน้ำนมดิบ กว่า 70 ตัน/วัน แล้วที่กรมปศุสัตว์ตรวจเหลือแค่กว่า 40 ตัน/วัน ออกมาในลักษณะแบบนี้เหมือนแกล้งกัน อยู่ที่พื้นที่เขต 3 และเขต 4 ที่เข้าตรวจสอบ แล้วก็มีบางสาขา แจ้งว่า ผลการตรวจโรงงาน อย.ส่งไม่ทัน แต่ความจริงทุกอย่างทันเวลาทั้งหมด และเอกสารครบหมด ใครจะได้เสียก็ไม่ออกไปโวยวายดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับกรมปศุสัตว์พิจารณาว่าจะให้สหกรณ์เพิ่มเท่าไร
"ส่วนสาเหตุที่ไม่ส่งรายงานปริมาณน้ำนมดิบให้คณะอนุกรรมการฯนมทั้งระบบ เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้เสียไปนั่งเป็นกรรมการ แล้วนั่งรู้เรื่องของคนอื่นทั้งหมดเลย แต่คนอื่นไม่เคยรู้เรื่องของคุณเลย แล้วจะฟ้องศาลปกครองกลางให้เปิดเผยข้อมูลเอาหลักฐานที่ไหนมาทำกัน แล้วพวกนี้เป็นเจ้าหน้าที่เถื่อนกันทั้งนั้นมีกฎหมายไหนมารองรับ ไม่ให้ราคา เป็นใคร มีปัญหาไหม ขณะที่กรมปศุสัตว์ มีเจ้าหน้าที่ทุกอำเภอ ทุกจังหวัดทราบกันดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปเข้าคณะอนุฯนมทั้งระบบอีก ราชการชอบไปสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ประกอบการ ถ้ารัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศจะเสนอให้ยุบทิ้ง"