สืบเนื่องจากน้ำนมดิบในประเทศขาดแคลนหนักทำให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ประสบปัญหาไม่สามารถหาน้ำนมดิบได้เพียงพอนั้น ล่าสุดลามกระทบมาถึงผู้ประกอบการ-สหกรณ์ โรงนม ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปี 2565
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่เวลานี้โรงเรียนหลายแห่งปิดเทอมแล้ว แต่บางโรงเรียนยังเปิดเรียนไปจนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2566 แต่จากที่ "โรงงาน-สหกรณ์" ไม่มีน้ำนมดิบส่ง ทางโรงเรียนจึงได้มีหนังสือทวงถามนมที่จะให้เด็กดื่มช่วงปิดเทอม พร้อมกับได้แจ้งไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.เพื่อให้ส่งนมกล่องตามสัญญา ดังนั้นใครที่เสนอในการที่จะผลิตนมให้เด็กได้ดื่มครบ 365 วัน อย่าเพิ่งไปคิดเลย แค่ทำให้ครบ 260 วัน ทุกวันนี้ก็ยากแล้ว
สอดคล้องกับเอเย่นต์ส่งนมโรงเรียน กล่าวว่า สาเหตุที่น้ำนมดิบขาดตลาดในเวลานี้ มาจากน้ำนมดิบที่ปรับราคากลางใหม่ ทำให้โรงงานขนาดเล็กที่จะต้องซื้อจากโรงงานขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ จากโรงงานขนาดใหญ่ไม่ค่อยอยากปล่อยน้ำนมดิบมาให้เพื่อดึงราคา และหวังเก็งกำไร โดยรอเวลาราคาน้ำนมดิบปรับขึ้นเพื่อขายในราคากลางใหม่ ในช่วงรอยต่อ ซึ่งตอนนี้โรงนมขนาดเล็กสถานการณ์ลำบากมาก
ด้าน นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board) ครั้งที่ 1/2566 ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคแลผลิตภัณฑ์นม พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาได้มีการนำเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566
รวมทั้งหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเรื่องการทบทวนราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 มีรายละเอียดดังนี้
1. เห็นชอบให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบปี 2566 จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 21.25 บาท
2. เห็นชอบให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 จากกิโลกรัมละ 20.25 บาท เป็น 22.75 บาท
3. ให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม พิจารณาทบทวนการกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา
4. ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางในการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตและราคาอาหารสัตว์
5.ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม(นมพาณิชย์) ให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ และ 6. ให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน พิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมโรงเรียน) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ และเสนองบกลางให้กับหน่วยจัดซื้อ และ 7.ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมแจ้งมติให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ยังได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ รวมทั้งแนวทางอื่น ๆ ในการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงโคนมได้อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วยทั้งนี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม จะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วนต่อไป
แหล่งข่าวเกษตรกรโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ค "เสียงบ่นจากฟาร์มโคเนื้อ-โคนม" ว่า อย่าเพิ่งเฮลั่นฟาร์ม แม้ว่ามิลค์บอร์ดให้ความเห็นชอบแล้วปรับราคาน้ำนมดิบ แต่ต้องนำเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (เลขานุการ ครม.จะนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระการประชุมเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่หากรัฐบาลนี้มีการยุบสภา ครม.ยังสามารถทำงานต่อได้ การประชุม ครม. ต้องอยู่ ในเงื่อนไข 2 ข้อ ได้แก่
1 ไม่อนุมัติงานหรือ โครงการที่สร้างความผูกพันกับ ครม.ชุดใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว สรุปคณะรัฐมนตรีอนุมัติขึ้นราคาน้ำนมดิบไม่ได้
2.ไม่อนุมัติการใช้งบกลาง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน สรุปประเด็นนี้มีเกษตรกรโคนมรายใดคาดหวังว่าจะได้บ้าง...ยกมือขึ้น
อนึ่ง เรื่องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้แทนองค์กรเกษตรกรโคนม จำนวน 5 คน ได้แก่
1.นายกล้าหาญ แก้วจีน
2.นายจำลอง ไชยวรรณา
3.นายสมพงษ์ ภูพานเพชร
4.นายตะวัน ตีบกลาง
5.นายสุชาติ แก้วศรีนวล
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้แทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม จำนวน 5 คน ได้แก่
1.นายปรีติ เจริญศิลป์
2.นายปกรณ์ ศิลาเกษ
3.นายอดิศร์ ตั้งไพบูลย์
4.นางสาวอุทัยวรรณ ลออคุณ
5.นายวสันต์ จีนหลง
3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านโคนมและผลิตภัณฑ์นมจากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 คน ได้แก่
1.รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ ประสานพานิช
2.นายสำเนาว์ พุกลออ