นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานการบูรณาการความร่วมมือและการบริหารจัดการเกลือทะเลครบวงจร และการลงนามลงนามทำสัตยาบันประกันราคาเกลือทะเลขั้นต่ำเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาเกลือทะเล พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทางรอดเกลือทะเลไทย” ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 2 อาคารคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี วันนี้ (2พ.ค.)
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์เกลือทะเลไทยในปัจจุบัน เกษตรกรที่ทำนาเกลือทะเลมีจำนวนลดลงอย่างมาก เนื่องจากการทำนาเกลือทะเลต้องอาศัยปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ อีกทั้งการทำนาเกลือทะเลสามารถทำได้เพียง 1 ฤดูการผลิตเท่านั้น ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ราคาตกต่ำ แต่หากฤดูการผลิตใดสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ ผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ราคาสูงขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทย ภายใต้มาตรการการจัดการและป้องกันแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 รักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกลือทะเลให้มีความเหมาะสม และขยายช่องทางการตลาดของเกลือทะเล คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยจึงมีการกำหนดราคาขั้นต่ำของเกลือทะเลไทย 3 ชนิด คือ เกลือขาว ตันละ 1,800 บาท เกลือกลาง ตันละ 1,500 บาท และ เกลือดำ ตันละ 1,300 บาท
รวมทั้งจัดให้มีการลงนามทำสัตยาบันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาเกลือทะเล โดยมีผู้แทนองค์กรเกษตรกรที่เกี่ยวข้องร่วมทำสัตยาบันในครั้งนี้ ประกอบด้วย ชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทยจำกัด สหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม จำกัด สหกรณ์การเกษตรนาเกลือบางแก้ว จำกัด สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสาคร จำกัด สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด
และสมาพันธ์ชาวนาเกลือทะเลไทยซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำที่สหกรณ์นาเกลือเสนอต่อและคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยเห็นชอบ ทั้งนี้สหกรณ์นาเกลือทุกแห่งจะต้องรักษาระดับราคาเกลือด้วยการไม่ขายต่ำกว่าราคาเกลือขั้นต่ำตามที่ลงนามข้อตกลงสัตยาบัน
และขอให้ผู้ประกอบกิจการค้าเกลือและอุตสาหกรรมที่ใช้เกลือร่วมมือในการซื้อเกลือไม่ต่ำกว่าราคาประกันขั้นต่ำด้วย โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนที่มีผลผลิตเกลือออกมามาก รวมทั้งการสร้างยุ้งฉางเกลือมาตรฐานให้มากขึ้นสำหรับการเก็บเกลือเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาเกลือ ทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะต้องช่วยสนับสนุนกันและกันเป็นหุ้นส่วนกัน
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเกลือทะเลไทยแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การผลิต กลางน้ำ ได้แก่ การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปลายน้ำ ได้แก่ การสร้างแบรนด์ การตลาด การผสมผสานระหว่างสินค้าและบริการ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการพัฒนาระบบนิเวศแบบสมดุลเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีแนวทางการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลไทย ดังนี้
1. ส่งเสริมเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปเกลือทะเล
2. ส่งเสริมให้เกษตรกร สามารถพัฒนาการประกอบอาชีพการทำนาเกลือ ให้ได้มาตรฐานสากล โดยการส่งเสริมความรู้ ทักษะ และเตรียมความพร้อมทั้งในด้านกระบวนการผลิต และขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับเกลือทะเล
3. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนาเกลือ ด้านหนี้สิน ชีวิตความเป็นอยู่ และความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพ ภายใต้โครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุด
4. ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกลือทะเล เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการรวมกลุ่ม โดยใช้นโยบายส่งเสริมการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (Zoning) นโยบายส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มอำนาจการต่อรอง เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้โดยพึ่งพาตนเองและยกระดับเป็นเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) โดยใช้แนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5. ประสานความร่วมมือกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ของประเทศต่างๆ และองค์กรทางด้านวิชาการ โดยมีสถาบันเกลือทะเลไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นศูนย์กลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างโอกาส สร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายช่องทางการตลาดของเกลือทะเลไทยทั้งในและต่างประเทศ
6.ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายทะเลและสาหร่ายน้ำจืด และการตลาดผลิตภัณฑ์จากเกลือทะเลไทย เพื่อส่งเสริมการผลิตสาหร่ายในนาเกลือทะเล และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้เกลือทะเลเป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรม
7.ประสานความร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมส่งเสริมสินค้าเกลือทะเล สาหร่ายทะเล สาหร่ายน้ำจืด เพื่อนำไปประกอบอาหารในร้านอาหารและโรงแรมของกลุ่มธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนเส้นทางสายเกลือ (Salt road)
และ 8. พัฒนาห่วงโซ่การเพิ่มมูลค่าเกลือทะเลไทย (BCG Value Chain เกลือทะเลไทย) ภายใต้รูปแบบเศรษฐกิจ BCG Model โดยจะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของเกลือทะเล
โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมต่างๆ เชื่อมโยงระหว่าง เกษตรกร องค์กรเกษตรกร กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และสร้างแบรนด์สินค้าเกลือทะเลให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยส่งเสริมให้เกษตรกรชาวนาเกลือหันมาใช้พลาสติกปูพื้นนาเกลือ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
รวมทั้งการนำวัสดุที่เหลือใช้จากการผลิตนำไปใช้งานในกิจกรรมอื่น เช่น การใช้ขี้แดดนาเกลือและเกลือดำในสวนไม้ผล การนำยิปซั่มที่ได้จากนาเกลือมาปรับสภาพดินในการเกษตร หรือในอุตสาหกรรมการผลิตดินสอพองและปูนปลาสเตอร์ และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือความสมดุลและยั่งยืน
โดยกระบวนการผลิตเกลือทะเลไม่ได้ใช้สารเคมีทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทดแทนน้ำมันในเครื่องจักรการผลิตเกลือทะเล รวมทั้งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับการทำนาเกลือ เช่น พิธีแรกนาเกลือ พิธีทำขวัญนาเกลือ และพัฒนาพื้นที่นาเกลือทะเลไทยให้เป็นมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS) ในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับงานในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย นายนวนิตย์ พลเคน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 4 นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร ผศ.ดร.วนิดา มากศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร นางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนเกษตรกรชาวนาเกลือ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของสถาบันเกลือทะเลไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี และการเสวนาในหัวข้อ “การบริหารจัดการโลจิสติกส์และการตลาดเกลือทะเล” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกด้วย