นายกฯ หนุน "ลิ้นจี่นครพนม1" เป็นสินค้า GI

13 พ.ค. 2566 | 03:35 น.

โฆษกรัฐบาล เผย นายกรัฐมนตรีสนับสนุน "ลิ้นจี่นครพนม1 (นพ.1)" เป็นสินค้า GI ควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ปี 2565 สร้างผลผลิต 169 ตัน สร้างมูลค่าได้กว่า 13.5 ล้านบาท ชี้สร้างโอกาสทางการค้าของไทยสู่ตลาดโลก

13 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนการผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม1 (นพ.1) สินค้า GI ของจังหวัดนครพนม

พร้อมชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการขับเคลื่อนองค์ความรู้การผลิตลิ้นจี่คุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) สร้างโอกาสทางการค้าของไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ เปิดเผยว่า ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม1 (นพ.1) ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครพนมซึ่งมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ลักษณะเฉพาะ คือ มีขนาดผลใหญ่ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาดเนื้อหนา เป็นลิ้นจี่กลุ่มพันธุ์เบา

ปัจจุบันจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ปลูกกว่า 2,969 ไร่ มีผลผลิตรวม 1,500 ตันต่อปี โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ จัดทำมาตรฐานลิ้นจี่พันธุ์นครพนม1 ด้วยการแบ่งเป็น 3 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ 

  • ชั้นพิเศษ (AA)  สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผลน้อยกว่า 35 ผลต่อกิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 38 มิลลิเมตร 
  • ชั้นหนึ่ง (A)  ตำหนิผิวโดยรวมต่อผลต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 0.25 ตารางเซนติเมตร สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผล 35-40 ผลต่อกิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร
  • ชั้นสอง (B)  ชั้นสอง ตำหนิผิวโดยรวมต่อผลต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 0.5 ตารางเซนติเมตร สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผล 35-45 ผล/กิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร

สำหรับแหล่งผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม1 (นพ.1) ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ในปี 2565 จำนวน 69 แปลง พื้นที่ 125 ไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 169 ตัน มูลค่าผลผลิตประมาณ 13.5 ล้านบาท และมีการรวมกลุ่มตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้เป็นสินค้า GI ตัวแรกของจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ปี 2556 (ปัจจุบันมีสินค้า GI ของจังหวัดนครพนมทั้งหมด 2 ชนิด คือ ลิ้นจี่นครพนม และสับปะรดท่าอุเทน)

นอกจากนี้มีการพัฒนาโมเดลนครพนม 1 ไร่ 3 แสนบาท ประยุกต์การทำการเกษตรสวนลิ้นจี่แบบผสมผสาน ควบคู่กับการปลูกพืช และ การเลี้ยงผึ้งเสริมรายได้ สร้างรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี 

ทั้งนี้ นายกฯ ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพสินค้าไทยตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมสินค้า GI เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในเอกลักษณ์และคุณภาพสินค้าไทย สามารถต่อยอด และพัฒนาได้อีกมาก

พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนองค์ความรู้เพื่อผลิตลิ้นจี่คุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) เพิ่มมูลค่าทางการตลาด สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น และสร้างโอกาสทางการค้าของไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก นายอนุชา กล่าวทิ้งท้าย