ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยในงานสัมมนา“ปุ๋ยแพง : ปัญหาใหญ่ภาคเกษตร” จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า บทบาทของกรมการค้าภายในมีหน้าที่กำกับดูแลสินค้าทั้งราคาและปริมาณ โดยปุ๋ยถือว่าสำคัญเพราะต้นทุนหนึ่งที่เกษตรกรต้องใช้ในการทำเกษตร ซึ่งกรมฯต้องดูแลปริมาณให้เพียงต่อความต้องการและราคาต้องไม่สูงเกินไป เพราะราคาที่เหมาะสมของกรม กับราคาที่เหมาะสมของเกษตรกร ของผู้ผลิต ไม่เท่ากัน ดังนั้นกรมจะใช้คำว่าราคาต้องเป็นธรรม
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อราคาปุ๋ย มาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ราคาพลังงานในตลาดโลก ดีมานด์-ซัพพลายในตลาดโลกในแต่ละสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ค่าขนส่ง ทั้งทางเรือ ทางบก ทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งมีส่วนส่งผลต่อราคาปุ๋ย และไทยเองก็นำเข้าปุ๋ยเกือบ 100%
“ต้องบอกว่าราคาพลังงานมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ต้นทุนปุ๋ยมีราคาสูง เพราะสารที่เป็นส่วนผสมของปุ๋ยมีราคาสูง เช่น ปุ๋ยยูเรียที่กว่า 35-40% ของการใช้ของเกษตรกรปีละกว่าล้านตัน ไทยเองไม่สามารถผลิตปุ๋ยเองได้เหมือนกับอินโดนีเซียทำให้ปุ๋ยไทยมีราคาขึ้นลงตามราคาพลังงาน”
จะเห็นได้ว่า ในช่วงโควิดปี 2563 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ความมั่นคงทางด้านอาหารจึงถูกหยิบยกมาพูด จีนมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหารมีการยกเลิกการส่งออกปุ๋ย และหลายประเทศส่งออกน้อยลง ซึ่งหน้าที่ของกรมการค้าภายในมีการตรึงราคาและข้อความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการชะลอการขึ้นราคา อาจจะมีปรับบ้างตามต้นทุนที่สูงแต่น้อยมาก เพราะเราพึ่งพาปุ๋ยโลก
ที่ผ่านมากรมฯได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ สมาคมผู้ค้าปุ๋ยในการจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ย ซึ่งลดลงมา 20-50 บาทต่อกระสอบ แม้ว่าจะลดไม่มากแต่ก็ช่วยให้เราคงราคาไว้ได้อย่างน้อยประมาณ 4.5 ล้านกระสอบ ใน 48 สูตร ต้องไม่ปรับขึ้นราคาแต่ช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนการผลิตได้กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเดือนก.ค.-ธ.ค.65 มียอดสั่งซื้อกว่า 3 ล้านกระสอบ
“สงครามยูเครน-รัสเซีย กระทรวงพาณิชย์มีความกังวล เพราะเป็นที่ทราบดีว่ารัสเซียเป็น 1 ใน 3 ประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยมายังไทย เช่นเดียวกับเบลารุส ที่เป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยมายังไทย ทำให้ปริมาณการนำเขาปุ๋ยมายังไทยหายไป ทั้งมาจากปัจจัยต้นทุนพลังงาน การส่งขนที่ติดขัด การชำระหนี้ของภาคเอกชน เป็นต้น ซึ่งในช่วงเดือน มี.ค.กรม ได้หารือกับภาคเอกชน เพื่อขอให้มีการเร่งนำเข้าปุ๋ยเพื่อทดแทนปริมาณที่ปุ๋ยหายไป ซึ่งภาคเอกชนนำเข้ามากขึ้น เพื่อป้องกันการขาดแคลน ส่วนราคามีการขยับขึ้นตามปัจจัยที่กล่าวมา ไม่ใช่จากการฉวยโอกาส”
โดยในปี 2564 กรมฯเน้นการแก้ปัญหาด้านราคาและในปี 2565 เน้นแก้ในเรื่องปริมาณให้มีอย่างเพียงพอ ซึ่งขณะนี้ราคาปุ๋ยปรับลดลงมามาก เช่น เดิมปุ๋ยยูเรียราคาอยู่ที่ 1,600-1,700 บาทต่อกระสอบ แต่ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 800 บาทต่อกระสอบ ซึ่งถือว่าราคาลดลงมากกว่า 50% แต่ยังแพงในมุมมองของงเกษตรกร เพราะราคาเดิมควรอยู่ที่ 500-600 บาทต่อกระสอบ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าหลายพื้นที่มีแนวโน้มราคาลดลง ส่วนที่บางพื้นที่ยังมีราคาหลักพันต่อกระสอบอาจเป็นเพราะสต๊อกเก่ายังคงค้างอยู่มาก แต่เชื่อว่าราคาจะค่อย ๆ ลดลง
สำหรับสต๊อกปุ๋ย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 พบว่ามีปริมาณ 1.3 ล้านตัน ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถือว่าเพิ่มขึ้นมากว่า 50% ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ปุ๋ยจะเพิ่มมากขึ้น จากผลผลิตผลทางการเกษตรที่ดีโดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งขอให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าปริมาณปุ๋ยมีเพียงพอแน่นอน ซึ่งหลังจากนี้ต้องติดตามต่อไป และกรมฯ ยินดีรับนโยบายของรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดจะเข้ามาบริหารประเทศ ในการขับเคลื่อนดูแลเรื่องปุ๋ย รวมถึงหารือกับภาคเอกชนและผู้ส่งออก