โครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน เป็นนโยบายของรัฐบาล ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากเป็นการส่งเสริมใช้น้ำนมดิบในประเทศ 100% (ห้ามใช้นมผง) และเด็กได้นมตามหลักสุขอนามัย สร้างการเจริญเติบโตต่อร่างกายและดีต่อสุขภาพ ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 มีนาคม 2562 งบประมาณ โครงการฯ 14,000 ล้านบาท ได้ทบทวนระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน โดยมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศ ได้ดื่มนมโรงเรียนตั้งแต่วันแรกของการเปิดภาคเรียน และได้ดำเนินการมาด้วยดีตลอดนั้น
นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีการศึกษา 2566 มีข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการนมโรงเรียนเชิงระบบ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่ได้ดื่มนมในวันแรกของการเปิดเทอม (16 พ.ค.) เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทั้งที่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ฉบับแรก ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการและปริมาณน้ำนมดิบ แต่เด็กไม่ได้ดื่มนมในวันเปิดภาคเรียนจากระบบที่ไม่ชัดเจน และเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่เข้าใจบริบทของอุตสาหกรรมนมโรงเรียนมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งที่มีโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 31
“จากที่เด็กไม่ได้ดื่มนมโรงเรียนในวันแรกของเปิดภาคเรียนได้ในครั้งนี้ ทางสมาคมฯจะทำหนังสือเปิดผนึกส่งให้กับรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้ทำเวิร์คช็อปกับผู้ประกอบการนมทั้งประเทศ และถอดบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา จากไม่อยากให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมาอีกในอนาคต”
แหล่งข่าวผู้ประกอบการนมโรงเรียน เผยว่า ได้ตั้งข้อสังเกตการจัดสรรโควตานมโรงเรียนในปีนี้ว่า ไม่ใช่ว่าจะตรวจปริมาณน้ำนมดิบได้เท่านี้ แล้วจะได้สิทธิ์เลย เพราะในข้อเท็จจริงจะมีการปรับลดโควตาลงอีก เช่น หากส่งเอกสารไม่ทันตามกำหนด ,ส่งนมโรงเรียนล่าช้า ก็จะมีโทษถูกปรับลดโควตาในปีการศึกษา 2566 ลง(กราฟิกประกอบ)
“ยกตัวอย่าง กรณี สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ส่งนมกล่องล่าช้า ส่งเอกสารไม่ทัน ทำให้ถูกปรับลดสิทธิ์โควตาลงจากปีที่ผ่านมา 13% และมีบางส่วนที่ถูกปรับเป็นเงินสดกว่า 4 ล้านบาท ปัจจุบันหนองโพฯ อยู่ระหว่างการอุทธรณ์เพื่อขอลดค่าปรับลง ซึ่งในลักษณะโดนกันเยอะมา”
ทั้งนี้ผลการอุทธรณ์ ล่าสุด "สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ" ผ่านเพียงรายเดียว โดยถูกทำโทษให้ผลิตได้เฉพาะนมพาสเจอร์ไรส์เท่านั้น แต่อีก 11 รายยังอุทธรณ์ไม่ผ่าน ซึ่งได้ร้องเรียนต่อเนื่อง ทั้งที่มีผลตรวจจากกระทรวงสาธารณสุขถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ผ่าน
ด้านนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด และในฐานะประธานสหกรณ์โคนมกำแพงแสน จำกัด กล่าวว่า 11 รายที่ยังอุทธรณ์ไม่ผ่าน ได้ร้องไปที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรณีของสหกรณ์โคนมวาริชภูมิเป็นรายที่ 16 ที่อุทธรณ์ผ่าน(จากอุทธรณ์ทั้งหมด 22 ราย) แต่จะถูกลงโทษห้ามผลิตยูเอชที ส่วนพื้นที่กลุ่ม 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้จะมีการจัดสรรโควตาตามพื้นที่เขตปศุสัตว์ และกลุ่มพื้นที่ 3 ในวันที่ 18 พฤษภาคม ขณะที่พื้นที่กลุ่ม 5 กลุ่ม 1 และ กลุ่ม 4 ได้จัดสรรโควตาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
คลิกอ่าน (ที่นี่) ผลตรวจคุณภาพน้ำนมดิบ ปี 2565 ใครผ่าน ไม่ผ่าน "นมโรงเรียน"
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,888 วันที่ 18-20 พฤษภาคม 2566