สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เพื่อขออนุมัติปรับเพิ่มราคานํ้านมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 7 เดือน (ครั้งแรก 1 ต.ค. 2565) เสนอให้ปรับราคากลางรับซื้อนํ้านมดิบ ณ หน้าศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบที่ 21.25 บาทต่อกิโลกรัม (หรือปรับขึ้น 2.25 บาท จากเดิมกิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท และเสนอราคากลางรับซื้อนํ้านมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ที่ กก.ละ 22.75 บาท (ปรับขึ้น 2.25 บาท จากเดิม กก.ละ 20.50 บาท) นั้น
กรณีดังกล่าวนายอำนวย ทงก๊ก ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็น จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จำกัด ประจำปีการศึกษา 2566 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยมีปัญหานํ้านมดิบมีน้อย ทำให้ไม่สามารถคัดคุณภาพได้ ส่วนกรณีที่ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ได้มีการเรียกร้องขอปรับขึ้นราคานํ้านมดิบอีก 2.25 บาทต่อกก.ถามว่าดีหรือไม่ “ก็ดี” เกษตรกรจะได้มีแรงจูงใจเลี้ยงโคนมแต่อีกด้านจะไปกระทบกับคนซื้อนํ้านมดิบ
ขณะที่เวลานี้วัตถุดิบจากต่างประเทศราคาเริ่มปรับลงแล้วก็ต้องมาวิเคราะห์กัน อีกด้านค่าไฟฟ้า ค่านํ้ามันเชื้อเพลิงก็ปรับขึ้นจนผู้ประกอบการอยู่ลำบาก จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้เกิดแนวคิดจะจดทะเบียนในชื่อ “สมาคมผู้เลี้ยงโคนม” เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านนํ้านมดิบให้กับประเทศ
“จากโรคลัมปีสกิน ได้คร่าชีวิตโคไปจำนวนมาก นํ้านมดิบขาดแคลน ดังนั้นจะทำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลใหม่เพื่อช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ซึ่งการทำงานของสมาคมผู้เลี้ยงโคนม จะแตกต่างจากชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยที่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยาก มีระเบียบหยุมหยิม ต้องผ่านสหกรณ์ คณะกรรมการบริหาร และอธิบดี เป็นต้น และต้องได้รับความเห็นชอบถึงจะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้”
ขณะที่ปัจจุบันผู้เลี้ยงโคนมได้ลดน้อยลงไป ส่งผลทำให้นํ้านมดิบทั้งระบบได้ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้สมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงโคนมจะเป็นเกษตรกรในสหกรณ์ หรือนอกสหกรณ์ก็ได้ไม่ได้กีดกัน จากเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ แต่มีเป้าหมายเพื่อให้มีวัตถุดิบ (นํ้านม) ให้กับในประเทศได้ใช้ และถ้ามีนํ้านมดิบเหลือก็สามารถแปรรูปเป็นนมผง เพื่อทดแทนการนำเข้าหรือผลิตภัณฑ์นมเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้สมาคมผู้เลี้ยงโคนมจะคอยมอนิเตอร์ ในเรื่องต่างๆ อาทิ ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร
“ทุกวันนี้นํ้านมดิบขาดแคลน ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการแปรรูปนมได้แย่งกันซื้อขายนํ้านมดิบ และบริษัทต่างประเทศที่มาปักหลักในไทย ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ ทั้งเสียภาษี จ่ายค่าจ้างแรงงาน แต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากในการนำเข้านมผง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสะท้อนให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เห็นและเข้าใจ”นายอำนวย กล่าว และขยายความอีกว่า
สหกรณ์โคนมกับบริษัท ที่ทำสัญญาซื้อขายนํ้านม ไม่เคยปฏิเสธรับซื้อนํ้านม แต่ที่มามีปัญหาในภายหลังนี้เนื่องจากว่า สหกรณ์/ศูนย์นมเอกชน เบี้ยวไม่นำมาส่งขายให้ แต่นำไปผลิตขายให้กับนมโรงเรียนก่อน พอปิดเทอมก็มาร้องว่านํ้านมดิบล้น ซึ่งจะต้องให้ความเป็นธรรมกับบริษัทด้วย ไม่ใช่ร้องแล้วให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวว่าไม่รับซื้อนํ้านม เพราะนมโรงเรียนทำแค่ 260 วัน แบ่งเป็นภาคการศึกษาเทอม 1 จำนวน 130 วันและเทอม 2 อีก 130 วัน พอโรงเรียนปิดเทอม 45 วัน นํ้านมดิบส่วนนี้กลายเป็นส่วนเกิน ก็แล้วแต่ว่าผู้ประกอบการ/สหกรณ์ จะนำนํ้านมดิบไปขายที่ไหน บางคนมีแหล่งขายก็ขายไป บางคนไม่มีที่ขาย ก็ไปร้องขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้ช่วยซื้อนํ้านมดิบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล
สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เผยว่า ปริมาณนํ้านมดิบในการจัดทำเอ็มโอยูนมโรงเรียนปี 2565/2566 เมื่อวันที่ 23-27 กันยายน 2565 สูงขึ้นถึง 2,295.304 ตันต่อวัน (นมโรงเรียนใช้นํ้านมดิบวันละ 1,050 ตัน จำนวนเด็กนักเรียน 6,734,884 คน) ขณะที่วัตถุประสงค์เพื่อขอสิทธินำเข้านมผงลดลงกว่า 30% จากปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 984.652 ตันต่อวัน ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมนมพาณิชย์ในประเทศไม่เติบโตขึ้น
ด้าน นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ได้นำเกษตรกรจากสหกรณ์โคนมต่าง ๆ ไปติดตามการประชุมครม. (9 พ.ค.66) เรื่องการปรับราคากลางนํ้านมดิบ ซึ่งจากเอกสารเห็นแล้วว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ลาประชุม) แต่ได้เซ็นลงนามตั้งแต่วันจันทร์ที่ 8 พ.ค. 66 ซึ่งไม่ต้องไปผูกพันงบประมาณ แค่ ครม.รับทราบเท่านั้น กรณีนี้ไม่ต้องถามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งนี้นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รับปากจะนำเข้าครม.วันที่ 16 พ.ค.นี้ ซึ่งทางชุม นุมฯ จะนำเกษตรกรมาติดตามอีกครั้ง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,887 วันที่ 14-17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566