เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นำผู้ประกอบการห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าทำสัญญารับซื้อผลผลิตมะม่วง จากเกษตรกร 6 กลุ่ม 3 อำเภอ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ และ ลำพูน ที่อาคารรวบรวมผลผลิต แปลงใหญ่มะม่วง หมู่ 19 ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 39,800 ตัน รวมมูลค่าประมาณ 460 ล้านบาท
ภายใต้มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 “อมก๋อยโมเดล” พร้อมปล่อยคาราวานรถบรรทุกมะม่วงกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากนั้น ได้มีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตลำไย จำนวน 145,000 ตัน และลิ้นจี่ อีกจำนวน 3,000 ตัน ที่โรงอบสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง (บ้านป่าจี้) อำเภอสันป่าตอง
การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการขับเคลื่อนมาตรการก่อนเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาดี ไม่ถูกกดราคาจากกลุ่มนายทุน และเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องการให้เกษตรกรมีช่องทางในการขายผลผลิตกับผู้ประกอบการโดยตรง และไม่เกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งจะเริ่มจากการบริหารจัดการภายในจังหวัดก่อน แต่หากเกินศักยภาพก็จะประสานไปยังกรมการค้าภายในให้ช่วยเข้ามาดูแล
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หากพบว่าเกษตรกรถูกกลั่นแกล้ง หรือมีใครมาทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ซื้อ-ขาย ไม่สะดวก และทำให้ราคาร่วงลง ขอให้แจ้งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปจัดการทันที เพราะไม่อยากเห็นเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ “เกษตรกรเชียงใหม่ต้องมีเงินเต็มกระเป๋า และมีรายได้ดี”
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ฝากถึงเกษตรกร ขอให้ควบคุมดูแลคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐาน ด้วยผู้ประกอบการที่มารับซื้อทั้งหมดเป็นรายใหญ่ หากผลผลิตมีคุณภาพดี ราคาก็จะสูงตามไปด้วย และเชื่อมั่นว่าราคามะม่วง ลำไย และลิ้นจี่ ในปีนี้ จะเป็นไปด้วยดี ราคาไม่ตกต่ำ และผลผลิตออกสู่ตลาดได้ทั้งหมด
นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะม่วงถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอดอยหล่อ ซึ่งมีพื้นที่การผลิตประมาณ 3,360 ไร่ เกษตรกรประมาณ 819 ราย พันธุ์ที่ปลูกได้แก่ จินหวง หงส์ไข่เท่อร์ งาช้างแดง แดงจักรพรรดิ์ อาร์ทูอีทู ซึ่งตลาดใหญ่จะเป็นต่างประเทศ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงมะม่วงแปรรูป เช่น มะม่วงอบแห้ง มะม่วงแช่อิ่ม ฯ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยและต่างประเทศ แต่ละปีสามารถสร้างมูลค่าแก่เกษตรกรในพื้นที่ปีละหลายล้านบาท