สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มองค์กร องค์กร เกษตรกร เช่น สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำ ปากพนัง จำกัด / ชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีธรรมราช / สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี / กลุ่มนาแปลงใหญ่นายายอาม / ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี / สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน / สหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด / ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
/ ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งท่าทอง / ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสตูล และกลุ่มองค์กรเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ลงชื่อร่วมกันผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยแต่ละจังหวัดต่างก็มีปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นมา เกษตรกรขายกุ้งขาดทุนปริมาณกิโลกรัมละ 40-50 บาท และยังไม่มีแนวโน้มราคาขยับขึ้น จึงขอความช่วยเหลือให้พิจารณาหาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย
1.โครงการเร่งด่วนชดเชยราคากุ้งช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม โดยกำหนดราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยคาดว่ามีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท ตัน/เดือน โดยใช้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2564 หรือมาตรการอื่นตามความเหมาะสม
2.โครงการระยะยาวให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับผู้ผลิต และผู้ค้าปัจจัยจัดหาสินค้าราคาถูก เช่น เคมีภัณฑ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารกุ้ง ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย และกรรมการในคณะกรรมการ Shrimp board เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”(22 พ.ค. 2566) ว่า วันนี้ ทางเครือข่ายฯ ประกอบด้วย นายยุทธนา รัตโน ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด นางชมพู พันธุวนิช ที่ปรึกษาสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ Shrimp board พร้อมคณะกรรมการ ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดย นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการแนวทางแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ที่กรมการค้าภายในเคยใช้ช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อปี 2564 ในมาตรการเพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งทะเลเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ปี 2566
ทั้งนี้ จะมีการชดเชยราคากุ้งกิโลกรัมละไม่เกิน 20บาท ซึ่งการกำหนดราคาเป้าหมาย /ราคาอ้างอิง สำหรับสนับสนุนส่วนต่างราคา ตามข้อมูลจากสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ในการขอความช่วยเหลือไปยังกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2564 จะมีการชดเชยตั้งแต่ขนาดกุ้ง 100 ตัวต่อกิโลกรัม ไปจนถึง 30 ตัวต่อกิโลกรัม เช่น ขนาดกุ้ง 100 ตัว/กิโลกรัม มีต้นทุนที่ 119 บาท เกษตรกรขายได้ กิโลกรัมละ 125 บาท/กก. ทางกระทรวงพาณิชย์ จะชดเชยให้ 5 บาท/กก. เพื่อให้ได้ราคาที่เป้าหมาย 130 บาท เป็นต้น
โดยจะเสนอคณะกรรมการกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร(คบท.)กระทรวงพาณิชย์ จำนวนกุ้ง 5,000 ตัน (งบประมาณ 150 ล้านบาท) ต่อไป
นายครรชิต กล่าวว่า คาดว่าจะมีการประชุมพิจารณาโครงการฯประมาณช่วงเดือนมิถุนายน 2566 นี้ และหากโครงการฯได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้ว ก็จะจัดสรรโควตาปริมาณกุ้งให้แต่ละจังหวัดตามข้อมูลการเลี้ยงกุ้งช่วงขณะนั้น ๆ โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด(คพจ.)เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการดำเนินการโครงการฯแต่ละจังหวัดต่อไป