คอนแทรคฟาร์มมิ่งเป็นระบบการผลิตผลผลิต หรือบริการทางการเกษตรที่มีการทำสัญญากันระหว่าง "ผู้ประกอบธุรกิจ" กับ "เกษตรกร" หรือ "กลุ่มเกษตรกร" โดยใช้กับการเพาะปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์หลายประเภท ช่วยเกษตรกรรายย่อยลดความเสี่ยงเรื่องราคาและความผันผวนด้านการตลาด ซึ่งคู่สัญญามีการตกลงในการบริหารจัดการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจจะถ่ายทอดวิธี การผลิต และจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ขณะที่เกษตรกรผลิตตามจำนวน คุณภาพ ระยะเวลาที่กำหนดหรือมาตรฐานของผู้ประกอบการ และส่งมอบผลผลิตในราคาที่ตกลงและประกันไว้ล่วงหน้า
ระบบนี้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงทางรายได้ และช่วยให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจมีหลักประกันเรื่องมีวัตถุดิบที่ได้คุณภาพในเวลาที่ต้องการ ซึ่งได้ใช้ผลิตสินค้าได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ในทางทฤษฎีจึงนับเป็นระบบที่ช่วยปิดความเสี่ยงของเกษตรกรให้ไม่ถูกกดราคาและสามารถผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังคงพบปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี 2560 ที่ยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาที่เกษตรกรรายย่อยถูกเอาเปรียบจากเงื่อนไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การได้รับปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้รับคู่สัญญา เป็นต้น
สำหรับประเภทของคอนแทรคฟาร์มมิ่งที่มีอยู่ในท้องตลาด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
1.ประเภทประกันรายได้ เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย และเป็นเกษตรกรที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์มาก่อน โดยเกษตรกรเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงเรือน รับผิดชอบด้านแรงงาน ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ส่วนบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเกี่ยวกับทรัพย์สินหมุนเวียน ได้แก่ พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ และวัคซีนป้องกันโรค พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยบริการและแนะนำด้านวิชาการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เกษตรกรจะมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน จะได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเลี้ยง
2.ประเภทประกันราคา เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับเกษตรกรขนาดกลางหรือเกษตรกรรายใหญ่ที่มีความรู้และมีประสบการณ์เรื่องการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างดี เกษตรกรกลุ่มนี้ยินดีที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากลงทุนด้านโรงเรือนและอุปกรณ์แล้ว ยังต้องลงทุนเรื่องทรัพย์สินหมุนเวียนทั้งหมด คือ ลงทุนซื้อพันธุ์สัตว์และซื้ออาหารสัตว์จากบริษัทในราคาข้อตกลง รวมทั้งขายผลผลิตให้บริษัทในราคาข้อตกลงเช่นเดียวกัน
3.ประเภทประกันตลาด เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายใหญ่ ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างดี หรืออยู่ในธุรกิจเลี้ยงสัตว์แบบอิสระมานานแล้ว ส่วนใหญ่มักเป็นลูกค้าของบริษัทที่อยากจะลงทุนขยายกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีตลาดรองรับ จึงทำการตกลงกับบริษัท โดยจะลงทุนและใช้เทคโนโลยีของบริษัท และยินดีซื้อพันธุ์สัตว์และอาหารสัตว์ของบริษัท โดยบริษัทต้องรับซื้อผลผลิตทั้งหมด (ทั้งนี้ ประเภทประกันตลาดไม่แพร่หลายเท่ากับ 2 ประเภทแรก)
อย่างไรก็ตาม ในอดีตอาจมีการนำคอนแทรคฟาร์มมิ่งไปใช้กันอย่างผิดวัตถุประสงค์ หรือมีการเอาเปรียบและไม่ซื่อสัตย์ต่อกันระหว่างคู่สัญญาจนนำไปสู่กรณีพิพาทหลายครั้งและในหลายกรณีมีการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ใช้เวลานานกว่าจะมีข้อยุติรวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจำนวนมาก ทำให้บางคนเข้าใจว่าระบบนี้ไม่ดีบ้าง เป็นสัญญาไม่เป็นธรรมบ้าง
ต่อมาประเทศไทยมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560” ที่ช่วยกำกับดูแลการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญา มีการทำหนังสือชี้ชวน มีสัญญากลางที่โปร่งใสและใช้ร่วมกัน รวมถึงมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ฝ่ายเกษตรกร บริษัทเอกชน และภาครัฐ เพื่อช่วยสร้างความเป็นธรรมซึ่งกันและกันระหว่างคู่สัญญา ลดปัญหาการเกิดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ตลอดจกระบวนการไกล่เกลี่ยใช้เวลาสั้นกว่าการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบเดิม ดังนั้นระบบเกษตรพันธสัญญานี้ สามารถส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีการเกษตรมีพัฒนาการและก้าวหน้าไปมากอย่างทุกวันนี้ บริษัทผู้ประกอบการต่าง ๆ มักมีการจัดทำแนวทางมาตรฐานฟาร์ม หรือมาตรฐานการป้องกันโรค รวมถึงมีการจัดทำแอพพลิเคชั่น Smart Farm เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกในการทำการเกษตร ตรงนี้นับเป็นประโยชน์สำคัญที่ผู้ประกอบการ จะนำมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งให้กลายเป็น Smart Farmer สอดคล้องตามเทรนด์ของโลกได้ง่ายกว่าการที่เกษตรกรจะมาเริ่มต้นทำการเกษตรด้วยตนเอง ซึ่งครอบคลุมถึงการออกแบบเทคโนโลโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ฟาร์มสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่ส่งผลกระทบ ส่งเสริมการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทรายใหญ่บางแห่งยังจัดทำประกันภัยให้เกษตรกรกลุ่มประกันรายได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรงเรือนและอุปกรณ์หากเกิดภัยพิบัติอีกด้วย
ปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการเกษตรที่จดทะเบียนทำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ราว ๆ 400 ราย ซึ่งพบว่ากรณีพิพาทลดน้อยลงอย่างมาก และมักจะเกิดขึ้นกับคู่สัญญาที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและบริษัทรายเล็ก ๆหรือโรงงานขนาดเล็กตามท้องถิ่นในส่วนภูมิภาคที่อาจยังมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานสากล แม้คอนแทรคฟาร์มมิ่ง จะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่นำมาใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรม หรือนำไปใช้ได้กับเกษตรกรทุกราย แต่ก็เป็นทางลัดที่น่าสนใจ และสามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้ไม่ยาก เพียงแต่เกษตรกรกับผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายได้รับตามสัญญา โดยต้องมีวินัย รับผิดชอบ และจริงใจในการร่วมธุรกิจซึ่งกันและกัน ก็เรียกได้ว่า Win-Win ด้วยกันไปครึ่งทางแล้ว