จากไต้หวัน เกิดการขาดแคลนไข่ไก่กะทันหัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและการระบาดของโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้ปริมาณการผลิตไข่ไก่สดไม่เพียงพอ ล่าสุดสถานการณ์การขาดแคลนไข่ไก่ในไต้หวันยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น รัฐบาลจึงอนุมัติให้มีการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรกโดยมีระยะเวลาให้ไทยส่งออกได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
แหล่งข่าวกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำนักงานการค้าและวัฒนธรรมไต้หวันประจำประเทศไทย และผู้แทนสำนักตรวจสอบและกักกันพืชและสัตว์แห่งไต้หวัน (BAPHIQ) ได้พิจารณาขยายเวลาการอนุญาตให้นำเข้าไข่ไก่จากไทยเป็นกรณีพิเศษจากเดิมที่มีกำหนดจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (เวลาที่บรรจุของลงเรือ) ขยายออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 (วันที่บรรจุของลงเรือ) ซึ่งปัจจุบันไทยมีการส่งออกไข่ไก่สดไปไต้หวันแล้ว ( ณ 23 มิ.ย.66 ) จำนวน 23.4 ล้านฟอง คาดการณ์ปี 2566 จะมีปริมาณการส่งออกไข่ไก่สดจากไทยไปไต้หวันได้มากกว่า 50 ล้านฟอง คิดเป็นมูลค่ากว่า 230 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสร้างตลาดใหม่ และช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรจำหน่ายได้ในประเทศ
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) กล่าวว่า ในที่ประชุม (11 ก.ค.66) มีการรายงานสถานการณ์ไข่ไก่ โดยกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2566 มีแผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) จำนวน 440,000 ตัว นำเข้ามาเลี้ยงแล้ว 54,200 ตัว คิดเป็น 12.32% ส่วนปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ภายในประเทศ (GP) มีแผน 3,800 ตัว ยังไม่มีการนำเข้ามาเลี้ยง ปัจจุบันมีจำนวนไข่ไก่ยืนกรง 52.66 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.71 ล้านฟองต่อวัน
พร้อมแผนการผลิตไก่ไข่-ไข่ไก่ ปี 2567 ให้เพียงพอกับประชากรไทย 66.09 ล้านคน โดยคิดคำนวณการบริโภคไข่ไก่เฉลี่ยคนละ 229 ฟอง/ปี (41.5 ล้านฟอง/วัน) จะต้องมีผลผลิตไข่ไก่ และแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวนเท่าไร (กราฟิกประกอบ) รวมทั้งการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ช่วงล้นตลาด อาทิ ช่วงปิดเทอม และเทศกาลกินเจ แต่การดำเนินการไม่สำเร็จ ทำให้ราคาไข่ไก่ตกตํ่าอย่างต่อเนื่องกระทบกับเกษตรกร
ขณะที่ประชุมเอ้กบอร์ด เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 มีมติรับทราบ (ร่าง) ประกาศ เรื่องการกำหนดมาตรการสำหรับฟาร์มไก่ไข่ที่ปลดไก่ไข่ยืนกรงเกินอายุที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการแล้วแต่ไม่ได้ผล จึงต้องใช้มาตรการเพิ่มบทลงโทษเข้าไปด้วยเพื่อให้การบังคับใช้มาตรการมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบต่อเกษตรกรจากปัญหาราคาไข่ไก่ผันผวน ซึ่งหากประกาศแล้วให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
“สาระสำคัญในร่าง (ประกาศ)จะมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่ไม่ปลดไก่ตามอายุที่เหมาะสม โดยกรมปศุสัตว์แจ้งเตือนให้ปลดไก่ไข่ที่เลี้ยงอายุเกินให้หมดภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันตรวจพบ หากไม่ดำเนินการ จะมีการลงโทษ ได้แก่ 1.ตัดสิทธิ์ร้องเรียนเรื่องการกระจายพันธุ์สัตว์ไม่เป็นธรรม 2.ให้กรมปศุสัตว์แจ้งขอความร่วมมือคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ของภาคเอกชน ไม่รับฟาร์มที่มีรายชื่อตามบัญชีนี้ เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ของกองทุน ทั้งข้อ 1 และ ข้อ 2 เป็นระยะเวลา 365 วัน”
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า บรรยากาศในที่ประชุมได้ถกปัญหากันอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากมีบทลงโทษ จึงมีการเสนอควรใช้วิธีการเจรจาร่วมกันระหว่างเกษตรกรและบริษัทผู้ผลิตพันธุ์ไก่ไข่ ในกรณีที่มีปัญหาผู้เลี้ยงไม่ปลดแม่ไก่ เพื่อขอให้บริษัทที่ขายพันธุ์สัตว์นั้นไปเจรจากับลูกค้าตนเองดีกว่า หรือถ้ามีจริงควรบังคับใช้มาตรการเฉพาะช่วงเวลา เช่น ในช่วงที่ผลผลิตไข่ไก่มีปัญหาล้นตลาดหรือราคาตกตํ่า โดยแบ่งเป็นรายไตรมาส เช่น ใช้ในไตรมาส 1 และ 4 ส่วนไตรมาส 2-3 ให้เป็นไปตามกลไกตลาด สรุปในที่ประชุมขอให้ทบทวนร่างประกาศใหม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปริมาณ 440,000 ตัว ทำให้มีผลผลิตไข่ไก่ ออกมาเกินปริมาณที่บริโภควันละ 1 ล้านฟอง อยากให้พิจารณาในมุมอื่นด้วย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,905 วันที่ 16-19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566