เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 การยางแห่งประเทศไทย โดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศ ไทย (กยท.) กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ (บอร์ด)การยางแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายางพาราแบบมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า โดยมีแกนนำเกษตรกรร่วมงานครบทุกองค์กร และมี บอร์ด กยท. เข้ามาร่วมรับฟังปัญหาราคายางพาราตกตํ่า พร้อมเสนอแนวคิดการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน โดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด
นายพิเชษฐ ยอดใชย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง) ในคณะกรรมการ(บอร์ด)การยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากครบรอบการทำงาน 4 เดือนในบอร์ดการยางฯถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เข้ามารับฟังเพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนยางในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา เรื่องสิทธิที่เกษตรกรจะได้รับภายใต้พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่กยท.มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในฐานะบอร์ดการยางฯ ที่เป็นผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงไม่ได้นิ่งนอนใจในการหาทางแก้ปัญหาเพื่อผลักดันราคายางให้มีเสถียรภาพที่ดีขึ้น
“หนึ่งในนโยบายหลักของบอร์ด กยท.ชุดนี้ ภายใต้การนำของ ดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ประธานบอร์ด ได้เร่งนโยบายในการดูดซับนํ้ายางให้ออกจากตลาดให้มากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเราจะต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาล เพราะงบประมาณที่จะผลักดันในเรื่องของโครงการล้อยางแห่งชาติ ต้องใช้งบประมาณเบื้องต้นประมาณหมื่นล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานครบวงจร”
นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า โครงการในอดีตมีการแทรงแซงราคา นำยางมาเก็บสต๊อก หรือ โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ถ้าตั้งโรงงานล้อยางแห่งชาติ ที่พยายามคิดกันแล้วนำไปสู่การปฏิบัติจริง เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาอาชีพชาวสวนยางทำให้เกิดความยั่งยืน จากมีความต้องการวัตถุดิบที่แน่นอนเพิ่มขึ้นในประเทศ และมีความต้องการยางจำนวนมาก ราคายางจะขยับขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ปัญหาความผันผวนด้านราคายางในช่วงที่ผ่าน ๆ มาจะลดลง ซึ่งนโยบายโครงการล้อยางแห่งชาตินี้จะผลักดันให้ถึงที่สุด
“เป้าหมายราคายางจากการแจ้งเกิดของโครงการล้อยางแห่งชาติตั้งต้นอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัมนั้นมีความเป็นไปได้ ผนวกกับการใช้ตลาดกลางยางพารา รวมทั้งอีกหลายช่องทางที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการดันราคายางให้เพิ่มขึ้น”
สอดคล้องนายศิริพันธุ์ ตรีไตรรัตนกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง) ในบอร์ดการยางฯ กล่าวว่า ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยประธานบอร์ด พยายามแก้ปัญหาหลัก สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยเกษตรกรคือเสถียรภาพด้านราคายาง ที่เวลานี้ยังตกตํ่า(กราฟิกประกอบ) ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่านํ้ามัน ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร และอื่น ๆ
ทั้งนี้บอร์ดการยางฯชุดนี้มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราทั้งต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า ให้ครบวงจร โดยมีสโลแกน “ไทยผลิต ไทยใช้ ไทยจะต้องกำหนดราคาได้” เช่นที่ 70-80 บาทต่อ กก.ขณะที่กลางนํ้าและปลายนํ้าคือโรงงานแปรรูปแห่งชาติ (โรงงานล้อยางแห่งชาติ) ก็ได้รับประโยชน์ จากวัตถุดิบในประเทศ ช่วยลดการส่งออกวัตถุดิบยาง และทุกฝ่ายอยู่ได้ไม่ขาดทุน
“โครงการนี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ และคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเอาด้วย เพราะงบประมาณที่จะใช้ค่อนข้างมากเกินกำลัง กยท. ที่จะดำเนินโครงการให้ครบวงจรทุกมิติ ยางในประเทศจะสามารถกำหนดราคาซื้อขายได้โดยคนไทย ไม่ใช่ตลาดต่างประเทศเป็นผู้กำหนด” นายศิริพันธุ์ กล่าว
ควันหลงภาพบรรยากาศประชุม (13 ก.ค.66) แนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายางพาราแบบมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,906 วันที่ 20-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566