สืบเนื่องจากกรณี ทาง "สมาคม-ชมรม ผู้เลี้ยงสุกร” ได้ทำหนังสือถึง กรรมการผู้จัดการ บมจ. ไทยฟู้ดส์ เรื่อง การขยายสาขาแต่ละจังหวัดและอำเภอต่อเนื่องเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบทางกลไกการตลาด ล่าสุดได้มีการเจรจาไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น
นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม รองประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการเจรจา เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งทางเกษตรกรได้มีการยื่นเรื่องไป 2 ข้อ ได้แก่ 1.ประเด็นการเร่งขยายสาขาเป้าหมาย 400 สาขาทั่วประเทศ ส่วนมากจุดที่ขยายของบริษัท เน้นบริเวณที่ใกล้โรงเชือดของบริษัท อีสานมีโรงเชือดที่ขอนแก่น
แต่ส่วนมากร้านค้า (ช็อป) และโรงเชือดจะอยู่แถวภาคกลาง ส่วนในภาคอีสานที่จะขยาย ต่อไปจะดูความเหมาะสมตามพื้นที่และจำนวนประชากร คงต้องลุ้นหวยจะออกที่อำเภอใหนต่อไป เพราะบริษัทคงต้องขยายตามแผนธุรกิจ และการค้าเสรี แต่จะพิจารณาให้รัดกุมต่อผลกระทบกับรายย่อยในพื้นที่ให้มากขึ้น
2.เรื่องราคาขายชิ้นส่วน เนื่องจากนโยบาย ราคาเดียว ใช้กับทุกสาขา ทำให้บางพื้นที่ราคาต่ำเกินจริงมาก ในขณะที่ตลาดในพื้นที่ยังราคาปกติอยู่ทำให้ราคาในพื้นที่รูดลงมา จนแทบขายไม่ได้ เป็นประเด็นที่จะปรับแก้ไขได้เลย โดยเน้นอ้างอิงราคาในแต่ละพื้นที่ แต่ทั้งนี้ต้องดูราคาซ็อปอื่นๆในระดับเดียวกันในพื้นที่ตั้งช็อปด้วย
3.ประเด็นเพิ่มเติม เรื่องการเพิ่มจำนวนผลผลิตจำนวนแม่พันธุ์ของบริษัทใหญ่ ที่เร่งขยายจนเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด และเกิดการดั้มพ์ราคาผลผลิตภายในประเทศ เป็นวงจรอุบาทว์ของวงการหมู วันนี้ถือโอกาสหารือกับเบอร์ 3 ไว้ก่อน ส่วนเบอร์ 2 และเบอร์ 1 คงต้องนำเสนอสภาพปัญหาในลำดับต่อไปซึ่งอาจจะต้องผ่านกรมปศุสัตว์ หรือพิกบอร์ด เป็นคนกลางเพื่อเจรจา เพื่อสงวนพื้นที่ยืนให้ผู้ผลิตรายเล็กรายย่อยได้ทำมาหากินบ้าง แต่ขอยืนยัน ว่าบริษัทเขาไม่ได้รับปากช่วยเราแต่เขาฟังเรามากขึ้น ส่วนการปฏิบัติ ต้องติดตามผลต่อไป
นายเดือนเด่น กล่าวว่า หลังจากที่ได้ประชุมเสร็จจากบริษัทแล้ว ในกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ได้ส่งหนังสือให้กับอีก 2 บริษัท ได้แก่ เฟรชมาร์ท และเบทาโกร เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง 2 บริษัทใหญ่ก็มี สาขา ขยายจำนวนมากเช่นเดียวกัน และในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ทางกลุ่ม จะเดินทางไปกับหลาย สหกรณ์/ชมรมผู้เลี้ยงสุกร บริษัทที่ค้าเวชภัณฑ์ และวัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์ ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาหมูเป็นตกต่ำ จากหมูเถื่อน ไปร่วมแสดงพลังให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
พบข้อสงสัย
1. หมูเถื่อนยังมีอีก 400 ตู้ (จากเดิม200 ตู้) ที่ยังไม่ไดัเข้าขบวนการอะไรเลย ทำไม รออะไร?
2. หมูเถื่อนกรมศุลกากร แอบพาไปปรับแล้วหมูเถื่อนส่งให้กรมปศุสัตว์หรือไม่
3. หมูเถื่อน ท่าเรืออื่นๆ ทำไม ไม่ตรวจ ไม่ค้น ไม่หา?
คนเลี้ยงหมูไม่ทน…เจอกัน
ระดมพล คนเลี้ยงสุดทน
หลังจากนั้นจะไปยื่นสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ด้วย โดยทางพาณิชย์จังหวัดแนะนำให้ยื่น เพื่อให้พิจารณาว่าเข้าข่ายเอาเปรียบเกษตรกรหรือไม่ อย่างไร
อ้างอิงหนังสือ